Economics

‘กูรูเศรษฐกิจ’ คาดจีดีพีปีนี้ติดลบ! เตือนระวังโรคแทรกซ้อน

“กูรูเศรษฐกิจ” คาดจีดีพีปีนี้ติดลบ ส่วนปี​ 2564 คาดขยายตัวที่​ 2.8% เตือน! เศรษฐกิจไทยระวังโรคแทรกซ้อน ย้ำยังเปราะบาง แม้พ้นขีดอันตรายแต่ยังต้องพักฟื้นยาว

นายอมรเทพ​ จาวะลา​ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่​ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ได้ปรับคาดการณ์​อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี​ 2563 จากติดลบ ​8.9% เป็นติดลบ ​7.5% และคาดการณ์​จีดีพีปี​ 2564 ขยายตัวที่​ 2.8% โดยเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงการปิดเมืองไตรมาส 2 ซึ่งช่วงเวลานั้น เหมือนคนไข้อาการหนักในห้อง ICU

แต่เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังเปราะบาง เหมือนแม้พ้นขีดอันตราย แต่ยังต้องพักฟื้นยาว โชคดีที่ยังมีมาตรการทางการคลัง และ การเงินในการประคองเศรษฐกิจอยู่ ด้วยงบที่อัดฉีดชดเชยรายได้ ที่หายในช่วงล็อกดาวน์ และ อาจมีมาตรการส่งเสริมการจ้างงานเพิ่มเติม อีกทั้ง อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ยังช่วงประคองภาคเอกชนได้บ้าง แต่ต้องระวังความเสี่ยง ที่อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไว้ด้วย

กูรูเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ มองว่า แม้คนไข้ได้ผ่านช่วงวิกฤติ และ กำลังพักฟื้นอยู่ แต่ต้องระวังโรคแทรกซ้อน ที่อาจทำให้เศรษฐกิจกลับไปหดตัว เทียบไตรมาสต่อไตรมาสได้ เหมือนตัว W-Shape อาการแทรกซ้อน มีหลากหลาย และ ยากจะคาดเดาจนกว่า จะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 เช่น การระบาดรอบ 2 และ นำไปสู่การเว้นระยะห่างที่เคร่งครัดมากขึ้น หรือ ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน และ ผู้บริโภคในประเทศ หรือ ปัจจัยต่างประเทศ ที่ส่งผลให้ตลาดการเงินโลกผันผวน เช่น สงครามการค้าระหว่าง สหรัฐและจีน ที่อาจลามไปสู่สงครามเทคโนโลยี หรือ สงครามเย็น ในรูปแบบใหม่ หรือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ที่อาจกระทบทุนเคลื่อนย้าย และ ค่าเงินบาท

“ปัจจัยที่จะกระทบ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปีหน้า ที่อาจเติบโตช้า รั้งท้ายในภูมิภาค คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังมาไม่เต็มที่ คาดว่าปีหน้า จะมีนักท่องเที่ยวมาประมาณ 6.3 ล้านคน ซึ่งน่าจะมาจากนักท่องเที่ยวจีน และ ใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ยังต่ำถ้าเทียบกับโซนยุโรป ซึ่งยังยากที่จะพร้อมเปิดให้เดินทางได้ ทั้งนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง กับการท่องเที่ยวทั้งหลาย จะยังคงประสบปัญหา รายได้น้อยไปอีกนาน ซึ่งสัดส่วนรายได้ จากการท่องเที่ยวมีมากกว่า 10% ของจีดีพี และ อาจกระทบอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง” กูรูเศรษฐกิจ กล่าว

นอกจากนี้ ธุรกิจไทยกำลังเผชิญปัญหา ขาดเงินทุนหมุนเวียน แม้สภาพคล่องในระบบจะมีล้น แต่โดยมาก อยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่หรือ คนมีรายได้หรือทรัพย์สินมาก ขณะที่กลุ่ม SME และ คนรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ กำลังจะมีปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน โดยเฉพาะ เมื่อสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ชั่วคราว มองต่อไปข้างหน้า ไม่ว่าจะมีการต่ออายุมาตรการนี้หรือไม่  สินเชื่อในระบบสถาบันการเงินมีแนวโน้มโตช้า เพราะความเสี่ยงเศรษฐกิจในระดับ SME และ ระดับล่างมีสูง

ขณะเดียวกัน หากไม่มีลูกค้า กลับเข้ามาชำระหนี้มากพอ กระแสเงินสดในระบบธนาคารพาณิชย์ ที่พร้อมปล่อยให้คนที่ต้องการขยายธุรกิจรายใหม่ อาจน้อยลง ซึ่งจะกระทบการลงทุนภาคเอกชน ที่อาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง ในปีหน้าได้ มาตรการดอกเบี้ยอาจไม่เพียงพอ ต่อให้ลดดอกเบี้ยลงอีก สภาพคล่องยังล้น แต่อาจเข้าไม่ถึงคนที่ต้องการสินเชื่อ มาประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงวิกฤตินี้ได้

ตกงานหนี้9963

ด้าน นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ภาคครัวเรือนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวในประเทศช่วงวันหยุดยาว โรงแรม ที่พัก รีสอร์ท ตามแหล่งท่องเที่ยวหลักเต็มแทบทุกแห่ง หลังจากคลายล็อกกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ แต่โดยรวมเศรษฐกิจยังอ่อนแอมากไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน

ทั้งนี้ ยอมรับว่า ตลาดแรงงานยังน่าเป็นห่วง เพราะมีผู้ว่างงานกว่า 700,000 คนสิ้นไตรมาส 2 โดยเป็นยอดผู้มีงานประจำ แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำงานอีกกว่า 2.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคนเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 โดยคาดว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2563 เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง เพราะต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกหดตัว หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 หลายประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นตัน จึงกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

“รอลุ้นเพียงเศรษฐกิจสหรัฐและจีนที่ยังพอเป็นหลัก จึงต้องติดตามว่าทั้ง 2 ประเทศจะควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีการระบาดรุนแรงได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีอุปสรรคมาก” นายผยง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสมมติฐานหากไทยควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด ขอความร่วมมือจากทุกกฝ่ายร่วมกันป้องกันโควิด-19 อย่างจริงจัง ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มเติม ที่ประชุม กกร. มองว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดไตรมาส 2 สำหรับทั้งปี 2563 กกร.มองว่า เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวในกรอบ 7 – 9% การส่งออกหดตัว 10 – 12% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ -1-1.5%

money28863

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทย แตะระดับต่ำสุด ไตรมาส 2/2563 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยแนวโน้ม ยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากทั้งการระบาดของโควิด-19 การแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงประเด็นทางการเมือง ทำให้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 เป็นติดลบ 10% จากเดิมคาดติดลบ 6%

ขณะที่ มองว่า ความไม่แน่นอนดังกล่าว จะทำให้เห็นการฟื้นตัวในรูปแบบยูเชฟ (U-Shaped) ในช่วงต้นปี 2564 ภายใต้สมมติฐานต้องมีวัคซีน รักษาโควิด – 19 พร้อมกับการเปิดประเทศ กระตุ้นการท่องเที่ยว และ มาตรการภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งการจะประคองเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงฐานตัว U ได้เร็วเพียงใดนั้น กลายเป็นโจทย์ยากของทางการไทย ที่ต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างการออกมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในขนาดที่เพียงพอและทันเหตุการณ์ในสภาวะการณ์ที่ไม่นิ่ง กับต้นทุนจากการออกมาตรการนั้น เช่น หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงการแพร่ระบาดอีกครั้งของไวรัส เมื่อทยอยเปิดประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้รัฐบาล มีแผนการใช้จ่ายรออยู่อีกมากในระยะข้างหน้า แต่ส่วนใหญ่ เป็นรายจ่ายที่จำเป็นในการฟื้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน จึงยังไม่กังวลระดับหนี้สาธารณะขณะนี้ ส่วนด้านนโยบายการเงิน คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะยังไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย และเลือกติดตามสถานการณ์ก่อน โดยเฉพาะช่วงหลังจากสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ ในช่วงปลายไตรมาส 3

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo