Economics

ตรึงราคาขายปลีก ‘ก๊าซหุงต้ม’ ถังละ 318 บาทถึงสิ้นปี ลดค่าครองชีพประชาชน

“กบง.” ลงมติตรึงราคาขายปลีก “ก๊าซหุงต้ม” ถัง 15 กิโลฯ อยู่ที่ 318 บาทจนถึงสิ้นปี หวังลดค่าครองชีพประชาชน พร้อมสั่งศึกษาวิธีลด “ค่าไฟ”

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน วันนี้ (21 ก.ย. 63) ว่า

ที่ประชุม กบง. มีขยายระยะเวลาตรึงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับครัวเรือน หรือ ก๊าซหุงต้ม ในราคา 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมอกไปอีก 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 จากเดิมมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในเดือนนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและลดผลกระทบของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด

ตรึงราคา ก๊าซหุงต้ม

การตรึงราคาก๊าซหุงต้มดังกล่าว กบง. จะต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง บัญชี LPG มาดูแล โดยล่าสุดกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง บัญชี LPG มีสถานะติดลบอยู่ที่ 7,429 ล้านบาท ถ้าหากขยายระยะเวลาการตรึงราคาก๊าซหุงต้มออกไปจนถึงสิ้นปี ก็ต้องใช้วงเงินดูแลอีก 1,350 ล้านบาท

แต่การใช้วงเงินดังกล่าวก็ไม่ได้สร้างปัญหา เพราะยังไม่เกินกรอบที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กำหนดให้ใช้วงเงินดูแลก๊าซ LPG ได้สูงสุด 10,000 ล้านบาท

 

สั่งศึกษาแนวทาง “ลดค่าไฟ”

นายวัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม กบง. ยังมีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ สนพ. ศึกษาแนวทางการลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชนในช่วงโควิด-19 เช่น ทบทวนผลตอบแทนรายได้ของ 3 การไฟฟ้า ให้มีหลักเกณฑ์ทางการเงินให้มีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ต่ำลง

ส่วนการช่วยเหลือราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) กบง.ได้มอบหมายให้ กกพ. ทบทวนต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติในโครงสร้างราคาขายปลีก NGV ให้มีความเหมาะสม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และลดค่าครองชีพให้ประชาชนด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo