Economics

ยันถังไม่แตก! ‘โฆษกรัฐบาล’ แจงปมจ่าย ‘เบี้ยผู้สูงอายุ-คนพิการ’ ล่าช้า

ถังไม่แตก ! “โฆษกรัฐบาล” แจงปมจ่าย “เบี้ยผู้สูงอายุ-คนพิการ” เดือนกันยายนล่าช้า เหตุตัวเลขจำนวนผู้ได้สิทธิ์เพิ่มขึ้น

ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงการจ่ายเบี้ยคนพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ยืนยันว่า ทั้งกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณ สำหรับจ่ายเบี้ยคนพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง

หลังจากได้มีการปรับปรุงตัวเลขจากเดิมที่ตั้งเบิกจ่ายไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 พบว่า จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 184,538 ราย จำนวนผู้พิการเพิ่มขึ้น 265,608 ราย ประกอบกับการพัฒนาการโอนตรงด้วยระบบ E-Payment เพื่อเป็นการจ่ายเบี้ยสู่บัญชีธนาคารของคนพิการและผู้สูงอายุโดยตรง ซึ่งมีสูงถึง 80% ส่วนที่เหลือ 20% ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำหน้าที่จ่ายเบี้ยเป็นเงินสด

ถังไม่แตก

“ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะไม่มีงบประมาณ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนระบบและวิธีการชำระเงิน รวมทั้งจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์เพิ่มขึ้น และเชื่อว่าหลังจากปี 2563 ที่เปลี่ยนระบบแล้วเมื่อผู้ลงทะเบียนได้รับสิทธิแล้วก็จะได้รับเงินทันทีในเดือนถัดไป และจะไม่เกิดความล่าช้าอีก” นายอนุชา กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า หลังจากการการปรับปรุงระบบจากนี้ไป การชำระเงินให้กับผู้มีสิทธิจะมีความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อผู้สูงอายุหรือผู้พิการได้ขึ้นทะเบียนแล้ว จะได้รับเบี้ยยังชีพในเดือนถัดไปทันที โดยไม่ต้องรอการประกาศสิทธิ์เหมือนในอดีต สำหรับงวดเดือนกันยายนนี้ ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้อนุมัติงบเหลือจ่าย เพื่อนำไปจ่ายเบี้ยคนพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทันที จำนวน 2,400 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยคนพิการ 700 ล้านบาทและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,700 ล้านบาทที่มีการแบ่งจ่ายแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงความล่าช้าในการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2564 ตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้สภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 2 และ 3 ในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจมีความล่าช้าไม่เกิน 1 อาทิตย์ และสำนักงบประมาณจะนำเรื่องดังกล่าวแจ้งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ เนื่องจากต้องมีการใช้งบประมาณประจำปี 2563 ไปพลางก่อน

ส่วนการใช้งบประมาณปี 2564 อาจไม่ทันใช้ในเดือนตุลาคมนี้ ว่า ขณะนี้ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาในวาระที่ 2 และ 3 ในสัปดาห์นี้ หากเกิดความล่าช้าก็ไม่น่าจะเกิน 1 สัปดาห์ ส่วนการชี้แจงรายละเอียดจะดำเนินการในวันพรุ่งนี้อีกครั้งหลังการประชุมครม. เมื่อสำนักงบประมาณจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมครม.เพื่อรับทราบ เพราะจะต้องมีการใช้งบประมาณปี 2563 ไปพลางก่อน

สำหรับชี้แจงผลการวิจัยว่าจะมีจำนวนผู้ตกงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการทำวิจัยตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลล่าสุดและเป็นเพียงการนำตัวเลขจากสถิติมาคาดคะเนสถานการณ์เศรษฐกิจ หากนำมาอ้างอิงอาจคลาดเคลื่อนและผิดพลาดได้

ซึ่งรัฐบาลได้จัดเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่รัฐบาลสนับสนุนภาคธุรกิจโรงแรมและสายการบิน มาตรการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับบัณฑิตจบใหม่ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปวช. และ ปวส. กว่า 260,000 ตำแหน่ง โดยรัฐบาลจะสนับสนุนผู้ประกอบการในการจ่ายเงินเดือน 50% รวมถึง ศบศ. จะมีการพิจารณามาตรการต่าง ๆ ในอนาคต อาทิ สนับสนุน Soft Loan หรือกระตุ้นการใช้จ่ายในร้านค้าปลีกขนาดย่อย เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ออกหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 10 กันยายน 2563 ถึงหน่วยงานราชการทั้งหมดทั่วประเทศ เรื่อง การใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2564 จะไม่ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ดังนั้นให้หน่วยงานต่างๆ เบิกจ่ายงบประมาณ โดยใช้กรอบของงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ใช้ไปพลางก่อน การเบิกจ่ายจะได้ไม่เกิน 1 ใน 4 ของงบประมาณที่ตั้งไว้

สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุล 6.23 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า งบประมาณ 2564 ที่ใช้ไม่ทันกำหนด 1 ตุลาคม 2563 จะไม่กระทบกับการเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการ และพนักงาน รวมถึงโครงการลงทุนเก่า ที่ก่อหนี้ผูกพันมาจากงบประมาณปีก่อนหน้า แต่การลงทุนโครงการใหม่ยังลงทุนไม่ได้ จนกว่างบประมาณจะมีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2564 จำนวน 6.23 แสนล้านบาท ก็ยังทำไม่ได้เช่นกันจนกว่า พ.ร.บ.งบประมาณ จะมีผลบังคับ อย่างไรก็ตามไม่กระทบกับการเบิกใช้จ่ายของประเทศ เพราะตอนนี้ มีเงินคลังสำรองไว้สูงถึงกว่า 5 แสนล้านบาท เนื่องจากได้มีการกู้เงินมาเติมไว้ รองรับการเบิกจ่ายในช่วง งบประมาณ 2564 ล่าช้าออกไป

“เงินคงคลังของประเทศ ไม่มีปัญหาถังแตก เนื่องจากมีรายได้และมีเงินกู้ชดเชยขาดดุลปี 2563 จำนวน 4.69 แสนล้านบาท และมีการขอกู้เงินเพิ่มอีก 2 แสนล้านบาท กรณีที่รายจ่ายมากกว่ารายได้ ก็ได้มีการกู้เงินส่วนนี้มาเตรียมรองรับการเบิกจ่ายไม่มีปัญหาสะดุด หรือ มีปัญหาถังแตกรัฐบาลไม่มีเงินอย่างที่สังคมวิตกกังวลกันอยู่”

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ. งบประมาณ 2564 ขณะนี้ยังอยู่การพิจารณาวาระที่ 2 ชั้นของกรรมาธิการ ซึ่งยังไม่เสร็จ หลังจากนี้ต้องเสนอให้ สภาพิจารณาในวาระ 3 ที่ยังคาดไม่ได้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo