Economics

‘กองสลากฯ’ ยืนหนึ่ง! นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมเดือน ส.ค. สูงสุด

“สคร.” นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ 1.82 แสนล้านบาท และคาดเป็นไปตามเป้าหมายทั้งปี เผย “สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล” นำส่งสูงสุด 42,521 ล้านบาท

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในเดือนสิงหาคม 2563 สคร. จัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 (กิจการฯ) จำนวน 11,512 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และการท่าเรือแห่งประเทศไทย

ส่งผลให้มีเงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสมจากรัฐวิสาหกิจและกิจการฯ ในช่วง 11 เดือน (1 ตุลาคม 2562 – 31 สิงหาคม 2563) จำนวน 182,288 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการสะสมจำนวน 10,645 ล้านบาท หรือคิดเป็น 97% ของเป้าหมายทั้งปีงบประมาณ 2563 จำนวน 188,800 ล้านบาท โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด 10 อันดับแรก ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 ได้แก่

money10963

  1. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 42,521 ล้านบาท
  2. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 29,198 ล้านบาท
  3. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 28,619 ล้านบาท
  4. ธนาคารออมสิน 18,000 ล้านบาท
  5. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 10,500 ล้านบาท
  6. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 8,890 ล้านบาท
  7. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 6,715 ล้านบาท
  8. การท่าเรือแห่งประเทศไทย 6,230 ล้านบาท
  9. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 5,922 ล้านบาท
  10. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 5,660 ล้านบาท

– อื่นๆ 20,033 ล้านบาท รวม 182,288 ล้านบาท

IMG 20200910152042000000

ทั้งนี้ สคร. ได้ติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2563 ของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแล โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมจำนวน 143,973 ล้านบาท หรือคิดเป็น 84% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม โดยรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่และสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยการ สคร. รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง แบ่งเป็นการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 34 แห่ง จำนวน 78,654 ล้านบาท หรือคิดเป็น 72% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 10 เดือน (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – กรกฎาคม 2563) และการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 10 แห่ง จำนวน 65,319 ล้านบาท หรือคิดเป็น 103% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 7 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2563)

สคร.109631

โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้เกินกว่าเป้าหมาย เช่น โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคใต้ตอนล่างและภาคตะวันตกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ของ รฟม.

สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมายยังคงเป็นโครงการที่ล่าช้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

นายประภาศ กล่าวสรุปว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ในประเทศเริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จากผลกระทบของโรค COVID – 19 ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัว ซึ่งการลงทุนของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น สคร.จะกำกับดูแลให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo