Economics

‘ประกันสังคม’ เปย์หนัก ‘เพิ่ม’ ชดเชยลาคลอด 98 วัน ทุพพลภาพจ่าย 70%

“สุชาติ” ประกาศ ประกันสังคม เพิ่มชดเชย  เน้นช่วยเหลือผู้ประกันตนมากขึ้น เพิ่มวันคลอดบุตร เป็น 98 วัน  พร้อมชดเชยขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพเพิ่มเป็น 70% ของค่าจ้าง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังมอบนโยบายเนื่องในวันครบรอบ 30 ปี สำนักงานประกันสังคมว่า ประกันสังคม จะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะการเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง โดย ประกันสังคม เพิ่มชดเชย ในด้านต่างๆ จำนวนหนึ่ง

ประกันสังคม เพิ่มชดเชย

ทั้งนี้ จะนำนโยบาย “รวมไทยสร้างชาติ” เข้ามาดำเนินการ รวมทั้ง จัดตั้งศูนย์อำนวยการแรงงานแห่งชาติ ภายในกระทรวงแรงงาน เพื่อทำงานเชิงรุก ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการแก้ปัญหาของประชาชนได้อย่างตรงจุด และทันท่วงที

นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายเร่งด่วน เพื่อเยียวยาความเจ็บปวดที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะ SMEs และประชาชนตกงาน โดยมีมาตรการในการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

ประกันสังคม เพิ่มชดเชย บรรเทาความเดือดร้อน

นอกจากนี้  ยังได้มีแผนการพัฒนา ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม และรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แรงงาน ดังนี้

  • กรณีคลอดบุตร

เพิ่มระยะเวลาการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจาก 90 วัน เป็น 98 วัน

  • กรณีสงเคราะห์บุตร

ให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรต่อไปอีก 6 เดือน

  • กรณีทุพพลภาพ

จะมีการเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้จากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง

  • กรณีค่าทำศพ

กองทุนเงินทดแทน กรณีเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานปรับจาก 40,000 บาท เป็น 50,000 บาท

ประกันสังคม เพิ่มชดเชย

สำนักงานประกันสังคม ยังจะเดินหน้า ยกระดับคุณภาพในการให้บริการแก่นายจ้าง ผู้ประกันตน และประชาชน ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับการเป็นรัฐบาลดิจิทัล ของทางสำนักงาน

  • เพิ่มช่องทางในการชำระเงินสมทบผ่านธนาคาร และหน่วยบริการชั้นนำ
  • ยื่นแบบส่งเงินสมทบผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
  • การชำระส่งเงินสมทบผ่านระบบ E-payment ของธนาคารชั้นนำ 9 แห่ง
  • พิมพ์ใบเสร็จด้วยตนเองผ่านระบบ E–receipt
  • การดำเนินการระบบแจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานกองทุนเงินทดแทน (e-Compensate)
  • การขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านระบบ E-claim
  • ให้บริการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 40 รวมทั้งบริหารจัดการรับ-ติดตาม เรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียนผ่านสายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

ประกันสังคม เพิ่มชดเชย

ขับเคลื่อนเครือข่าย ผ่านกลไก “บวร”

นายสุชาติ บอกด้วยว่า นโยบายสำคัญ และทิศทางในการดำเนินงานของ สำนักงานประกันสังคม ตนได้กำหนดให้สำนักงานประกันสังคม มีมาตรการส่งเสริม คุ้มครอง พัฒนา และสร้างหลักประกันทางสังคม สู่แรงงานนอกระบบ โดยดำเนินการขับเคลื่อน เครือข่ายประกันสังคมทั่วไทย ผ่านกลไก “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน โรงงาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40 กรณีเสียชีวิต และกรณีทุพพลภาพ

พร้อมทั้งศึกษารูปแบบความคุ้มครอง กลุ่มอาชีพใหม่ โครงการ Safety & Healthy Thailand เพื่อผู้ประกันตน ผ่านกลไก 3H (Helping – Healthy – Harmless) ซึ่งเป็นการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคเชิงรุกในสถานประกอบการ รวมไปถึงการพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ สังคม และรองรับสังคมสูงอายุ

ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม ได้พัฒนาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ ให้แก่ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ เช่น การขยายอายุการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จากเดิมจำกัดที่อายุ 60 ปี เป็นอายุ 65 ปี และการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน โดยการแก้ไขกฎกระทรวงเพิ่มเหตุสุดวิสัยโควิด-19 และว่างงานจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจอีกด้วย

นโยบายล่าสุดนี้ ยังมีขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ขยายเวลา ลดหย่อนการออกเงินสมทบ ของนายจ้างและผู้ประกันตน ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2563

ประกันสังคม เพิ่มชดเชย

สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 ให้เหลือฝ่ายละ 2% ของค่าจ้างผู้ประกันตน และสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 96 บาท จากที่ต้องจ่ายเดือนละ 432 บาท

สำหรับการลดหย่อนการจ่ายเงินสมทบครั้งนี้ จะเป็นการลดภาระให้แก่ผู้ประกันตน จำนวน 12.79 ล้านคน คิดเป็นเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท และนายจ้าง 4.87 แสนราย คิดเป็นเงิน 1.1หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 2.4 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ หากคิดเป็นจำนวนเงินที่จะประหยัดได้ ของผู้ประกันตน มาตรา 33 เฉลี่ยเดือนละ 1,022 บาท และ ผู้ประกันตนมาตรา 39 เฉลี่ยเดือนละ 1,008 บาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo