Economics

7 สายการบินแฮปปี้! ‘นายกฯ’ รับข้อเสนอพร้อมหามาตรการช่วยเหลือด่วน

สายการบิน แฮปปี้!! “นายกรัฐมนตรี” รับข้อเสนอภาคธุรกิจการบิน พร้อมขอความร่วมมือภาคธุรกิจการบินให้คงสภาพการดำเนินงาน ไม่ลดการจ้างพนักงาน ย้ำรัฐบาลจะหามาตรการเสริมช่วยโดยเร็ว ด้าน “ธรรศพลฐ์” บอกวันนี้ยิ้มได้

ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจการบินของประเทศไทย เนื่องจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากคณะผู้บริหารระดับสูงของ 7 สายการบินในประเทศไทย ที่นำโดยนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย และคณะรวม 14 คน

โดยมีนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เข้าร่วมด้วย โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงสาระสำคัญของการหารือดังนี้

สายการบิน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ธุรกิจการบินเป็นธุรกิจสำคัญ ที่ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เหมือนกันทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะพิจารณาข้อเสนอ จากภาคธุรกิจการบินและหาวิธีการช่วยเหลือ ทั้งนี้ รัฐบาลโดย ศบค. กำลังหามาตรการผ่อนปรนในหลายเรื่อง ทั้งการหาแนวทางปลดล็อคเรื่องการบิน รวมทั้ง กำลังเร่งผ่อนคลายเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศโดยต้องพิจารณาทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

ขณะเดียวกัน ต้องสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ ขอให้ภาคธุรกิจการบินร่วมมือกันให้มากขึ้น ลดการแข่งขันด้านราคาโดยให้แข่งขันกันด้านบริการ ให้จัดระเบียบการดำเนินงานให้ดี ให้คงสภาพการดำเนินงานโดยไม่ให้มีหนี้สินเพิ่ม และไม่ลดการจ้างพนักงาน โดยรัฐบาลจะหามาตรการเสริมต่าง ๆ ช่วยโดยเร็วต่อไป

สำหรับคณะผู้บริหารระดับสูงของ 7 สายการบินในประเทศไทยที่เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อยื่นหนังสือฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท สายการบินนกแอร์ และสายการบินบางกอกแอร์เวยส์

สายการบิน

โดยได้มีข้อเสนอรวม 3 ประเด็นคือ

1. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการสายการบิน โดยขอเสนอให้พิจารณามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท แก่ผู้ประกอบการสายการบินให้เร็วที่สุด

2. ขยายระยะเวลาการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น

3. การยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบิน เช่น การขึ้นลงของอากาศยาน (Landing fee) ที่เก็บอากาศยาน (Parking fee)

โดยปลัดกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงว่า กระทรวงการคลัง ได้เตรียมออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft loan เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีผลกระทบต่อสภาพคล่อง ผ่านธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนตุลาคมนี้

ส่วนการยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบินนั้น สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมฯ ขยายออกไปถึงเดือนมีนาคม 2565 ขณะที่เรื่องการขอให้คงภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินนั้น จะยังคงคงไว้ตามที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

สายการบิน

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยภายหลังนำผู้บริหารสายการบินในประเทศ เข้าพบนายกฯ ว่า นายกฯรับข้อเสนอ 7 ผู้ประกอบการสายการบินในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งผู้ประกอบการได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.ขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงินรวม 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับปากและมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลังไปประสานกับสถาบันการเงินของรัฐในการหาแหล่งเงินกู้ซึ่งเบื้องต้นสายการบินในประเทศได้หารือกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ไว้เบื้องต้นแล้ว คาดว่าจะได้เงินกู้ในเดือน ตุลาคมนี้

2. ข้อเสนอในเรื่องการต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน ซึ่งในเรื่องนี้ กระทรวงการคลัง ขอกลับไปพิจารณาก่อน

3.ข้อเสนอในเรื่องการลดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของสายการบินในประเทศ เช่น ค่าจอดเครื่องบิน ค่า service chart และค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอนี้ ภาคเอกชนขอให้รัฐบาลช่วยขยายระยะเวลาลดค่าธรรมเนียมออกไปจนถึงเดือน ธันวาคม ปี 2564 แต่นายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะขยายให้จนถึงเดือน มีนาคม 2565

“วันนี้เป็นวันที่ยิ้มได้เพราะนายกรัฐมนตรีรับข้อเสนอที่จะช่วยพวกเราสายการบินในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้สายการบินมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจจนถึงปีหน้าที่ธุรกิจฟื้นตัว ซึ่งเมื่อรัฐบาลช่วยเหลือดังนี้ก็จะสามารถคงการจ้างงานพนักงานไว้ได้กว่า 2 หมื่นคน โดยไม่ต้องปลดพนักงานออก” นายธรรศพลฐ์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo