ระทึก!! “กพท.” เตรียมสรุปผลสอบ “พาที สารสิน” ปมนอมินีภายในเดือนนี้ พร้อมสั่งจับตาสภาพคล่อง “นกแอร์” ลั่นถ้าจำเป็นอาจสั่งหยุดขายตั๋ว
จากกรณีที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนายพาที สารสิน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) สายการบินนกแอร์ ออกมาระบุว่า ตนได้ถือหุ้นแทน (Nominee) สายการบินนกแอร์ เพื่อลงทุนจัดตั้งสายการบินนกสกู๊ตนั้น
วันนี้ (10 ก.ย.) นายอาคม ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มีหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการดำเนินธุรกิจของสายการบินนกสกู๊ตว่า เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และต้องสรุปรายงานเสนอมาให้ตนรับทราบ ส่วน กพท. จะใช้เวลาตรวจสอบนานแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียดและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กพท. ได้ตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้นของนกสกู๊ตครั้งล่าสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมาและไม่พบปัญหาเรื่องนอมินี แต่เมื่อนายอาคมมีคำสั่งให้ตรวจสอบอีกครั้ง ทาง กพท. ก็จะประสานไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อตรวจสอบเอกสารเรื่องโครงสร้างผู้ถือหุ้นของนกสกู๊ตก่อน ถ้าพบว่ามีข้อสงสัย ก็จะเชิญนายพาที สารสิน มาสอบถามข้อเท็จจริงว่า การพูดเรื่องถือหุ้นแทนมีความหมายว่าอย่างไร
“ขั้นแรกเราจะตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้นของนกสกู๊ตก่อนว่าเป็นใครบ้าง ถ้ามีผู้ถือหุ้นเป็นนิติบุคคล ก็จะตรวจสอบขั้นที่ 2 คือสัดส่วนผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลดังกล่าวเป็นอย่างไร โดยหากตรวจแล้วพบว่า เสี่ยงเข้าข่ายเป็นนอมินีต่างชาติ ก็จะทำหนังสือเชิญ นายพาที สารสิน มาสอบถามข้อเท็จจริงต่อไป โดยคาดว่าจะสรุปผลตรวจสอบได้ภายในเดือนนี้” นายจุฬากล่าว
ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดว่า สายการบินสัญชาติไทยต้องมีผู้ถือหุ้นชาวไทยอย่างต่ำ 51% และชาวต่างชาติไม่เกิน 49% ถ้าสายการบินมีนอมินีต่างชาติและทำให้สัดส่วนของผู้ถือหุ้นชาวไทยจริงๆ ต่ำกว่า 51% ก็จะเข้าข่ายผิดกฎหมาย ส่งผลให้สายการบินอาจถูกลงโทษ ถึงขั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) ได้
จับตานกแอร์! อาจสั่งหยุดขายตั๋วล่วงหน้าถ้าจำเป็น
นายจุฬา กล่าวถึงปัญหาของสายการบินนกแอร์ว่า แม้นกแอร์จะประสบปัญหาขาดทุนและปัญหาสภาพคล่อง แต่นกแอร์ยังมีสินทรัพย์ เช่น เครื่องบิน เส้นทางการบินที่ดีอยู่ โดยขณะนี้ปัญหาของนกแอร์ยังไม่ถึงขั้นรุนแรง และ กพท. ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใดๆ เป็นพิเศษ
หลังจากนี้จะต้องจับตาดูว่านกแอร์จะสามารถเพิ่มทุน หรือหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ได้หรือไม่ แต่หากพบว่านกแอร์มีปัญหาสภาพคล่องเพิ่มขึ้น จนกระทบต่อผู้โดยสาร กพท. อาจจำเป็นต้องสั่งให้นกแอร์ชะลอการขายตั๋วล่วงหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบจากการเดินทางหรือการยกเลิกเที่ยวบินโดยไม่จำเป็น
“จากการพิจารณาฐานะของนกแอร์ล่าสุด ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องสั่งหยุดทำการบิน แต่หากมีปัญหาร้ายแรงจนต้องหยุดบิน กพท.ก็มีมาตรการคุ้มครองและดูแลผู้โดยสารไว้แล้ว เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ทุกสายการบินต้องวางเงินหลักประกันการดูแลผู้โดยสารไว้ที่ กพท. ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการชดเชยให้ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการทำการบิน” นายจุฬากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สายการบินนกแอร์มีผลประกอบการติดลบต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน นับตั้งแต่ปี 2558-2560
ปี 2558 มีรายได้รวม 14,296 ล้านบาทและขาดทุนสุทธิ 726 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้รวม 16,938 ล้านบาทและขาดทุนสุทธิ 2,795 ล้านบาท
ปี 2560 มีรายได้รวม 20,376 ล้านบาทและขาดทุนสุทธิ 1,854 ล้านบาท
สำหรับครึ่งแรกของปี 2561 นกแอร์มีรายได้รวม 10,924 ล้านบาทและขาดทุนสุทธิ 856 ล้านบาท นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังได้ขึ้นเครื่องหมาย C (Caution) ที่หุ้นนกแอร์ เพื่อให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุน เนื่องจากมีส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนที่ชำระแล้ว
ภาพจากอินสตาแกรม patee122