Economics

เศรษฐกิจโลกยังเสี่ยงสูง คาดฉุดส่งออกไทยปีนี้ติดลบ 12%

เศรษฐกิจโลก ยังเสี่ยงสูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดฉุดส่งออกไทยปีนี้ติดลบ 12% จากเดิมคาดคิดลบ 6.1% ชี้ 7 เดือนแรกของปีหดตัวที่ 7.7% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ส่งออกไทย 7 เดือนแรกปี 2563 หดตัวที่ 7.7% YoY โดยการส่งออกในเดือน กรกฎาคม อยู่ที่ 18,819 ล้านดอลลาร์ หดตัว 11.4% YoY ซึ่งหากหักการส่งออกสินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธฯ การส่งออกจะหดตัวที่ 13.0% YoY โดยการส่งออกทองคำพลิกกลับมาขยายตัวในเดือน กรกฎาคม ตามราคาทองคำในตลาดโลก

เศรษฐกิจโลก

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงหดตัวต่อเนื่อง สำหรับสินค้าส่งออก ที่ขยายตัวได้ยังคงเป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน เช่น ทูน่ากระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง ถุงมือยาง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตลาดส่งออกของไทย พบว่า สหรัฐ เป็นตลาดหลักเพียงตลาดเดียว ที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวเป็นบวกในเดือน กรกฎาคม ที่ 17.8% YoY โดยการส่งออกไทยไปสหรัฐ ขยายตัวได้ดีเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จากการการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มขึ้นมาก

ขณะที่การส่งออกของไทยไปจีน พลิกกลับมาหดตัวเล็กน้อยในเดือน กรกฎาคม ที่ 2.7% YoY จากผลกระทบของการแพร่ระบาดรอบใหม่ รวมทั้งปัญหาอุทกภัยในแหล่งการผลิตสำคัญอย่างมณฑลอู่ฮั่น ซึ่งสินค้าหลักที่หดตัวสูง ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ และยางพารา

แม้การส่งออกไทยในเดือน กรกฎาคม จะหดตัวลดลงเมื่อเทียบกับ 2 เดือนก่อนหน้า แต่ท่ามกลางแนวโน้ม เศรษฐกิจโลก ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น จากการแพร่ระบาด ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ และความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐ ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น กอปรกับมีแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

เศรษฐกิจโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับประมาณการการส่งออกสินค้าไทยปี 2563 จากคาดการณ์เดิมที่หดตัว 6.1% YoY เป็นมีแนวโน้มหดตัว 12.0% YoY อนึ่ง การนำเข้าของไทยเดือน กรกฎาคม หดตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ 26.4% YoY โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่หดตัว 24.1% YoY สะท้อนถึงยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกในช่วงสิ้นปีจะยังหดตัวอยู่

ขณะที่การพัฒนาวัคซีน แม้ว่าจะมีความคืบหน้าไปบ้าง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง และคาดว่าจะใช้ระยะเวลายาวนาน กว่าจะสามารถผลิตออกมาใช้อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกยังเผชิญความเสี่ยงอย่างมาก ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวที่พร้อมจะถูกนำมาโยงกับสงครามการค้าได้ทุกเมื่อ จึงเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันการค้าและเศรษฐกิจโลกต่อไปในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่า ตามแนวโน้มการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะอีกปัจจัยกดดันภาคการส่งออกของไทยช่วงที่เหลือของปีนี้ อนึ่ง การนำเข้าของไทยเดือน กรกฎาคม หดตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ 26.4% YoY โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปหดตัวที่ 24.1% YoY สะท้อนถึงยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกในช่วงสิ้นปีจะยังหดตัวอยู่

ด้าน TMB Analytics วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 โดยประเมินจากปัจจัยลักษณะสินค้าและทิศทางการฟื้นตัวของอุปสงค์ ซึ่งได้แก่ ความจำเป็นของลักษณะสินค้าบริโภค นโยบายปลดล็อกประเทศในโครงสร้างตลาดส่งออก ภาวะตลาดส่งออกก่อนเกิดการระบาด ฯลฯ ซึ่งจากการประเมินแบ่งการฟื้นตัวของการส่งอออกได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มหนึ่ง : สินค้าที่คาดว่าจะเติบโตในช่วงโควิด-19 ได้แก่ อาหาร อาหารสัตว์ ผักผลไม้ ยารักษาโรคและเครื่องมือแพทย์ สินค้ากลุ่มนี้ล้วนเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อผู้บริโภค ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกี่ยวข้องกับภาคเกษตร เช่น ข้าว อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป รวมทั้งอาหารสัตว์เลี้ยง

ซึ่งประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตเพื่อรองรับความต้องการในตลาดได้อีกมาก รวมทั้งมีปัจจัยหนุนจากกำลังซื้อในตลาดจีนที่ฟื้นตัวแล้ว แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากปัญหาวัตถุดิบที่ถูกกระทบจากภัยแล้งและการแข่งขันสูงในตลาดโลก โดยสินค้ากลุ่มนี้ในครึ่งปีแรก ส่งออกเพิ่มขึ้น 7.5% yoy มีมูลค่าส่งออกรวม 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 12.7% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด

กลุ่มสอง : สินค้าที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ได้แก่ เครื่องดื่ม พลังงาน เคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน สินค้าอุปโภค เครื่องจักรกล สินค้าเกษตร สินค้าในกลุ่มนี้จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังคลายล็อกดาวน์และการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

ระดับราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังลดลงมากในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ช่วยพยุงในเรื่องของราคาสินค้า โดยสินค้ากลุ่มนี้ในครึ่งปีแรก ส่งออกลดลง -9.2% yoy มีมูลค่าส่งออกรวม 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 61.8% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด

กลุ่มสาม : สินค้าที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปี 2564 ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องแต่งกายและเครื่องประด้บ สินค้ากลุ่มนี้จะฟื้นตัวช้า เนื่องจากกำลังซื้อที่หดหายจากทั่วโลกกระทบต่อสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อรายได้ เป็นสินค้าที่มีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งต่างประเทศทำให้เสียเปรียบและเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มถูกผลกระทบจากการกีดกันการค้าทางตรงและทางอ้อมหรือไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า

โดยสินค้ากลุ่มนี้ในครึ่งปีแรก ส่งออกลดลง -24.2% yoy มีมูลค่าส่งออกรวม 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 25.5% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด

จากผลการประเมินแนวโน้มสินค้าส่งออกข้างต้น จะเห็นได้ว่าสินค้าส่งออกมีแนวโน้มที่เติบโตและฟื้นตัวในปี 2563 มีสัดส่วนถึง 74.5% หมายถึงว่าผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายการส่งออกได้ในครึ่งปีหลัง 2563

ทั้งนี้นอกจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 แล้ว สถานการณ์การค้าโลกจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตา ไม่ว่าจะเป็นสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน นโยบายการกีดกันทางการค้า การแข่งขันทางด้านราคาที่จะมีมากขึ้น เมื่อระดับการผลิตของแต่ละประเทศกลับมาเหมือนเดิม รวมไปถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน

ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวมากขึ้นเพื่อรักษาตลาด ประคองธุรกิจเพื่อรอการฟื้นตัว เช่น การเสาะหาตลาดใหม่เพื่อลดกระจุกตัวของตลาด การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและกระจายสินค้า การพัฒนาศักยภาพในการผลิต การมีมาตรฐานคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเพิ่มสินค้าใหม่ตามวิถีชีวิตใหม่ (new normal) และสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

โดยภาครัฐสามารถมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพด้านการตลาดให้มากขึ้น ด้วยการหาช่องทางการกระจายสินค้าเพิ่มเติม การประสานงานและเจรจาการค้าเพื่อเปิดตลาดเพิ่ม และอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo