Economics

เชียงใหม่เตรียมผุดรถไฟฟ้าสายแรก เดินแค่ 400 เมตรต่อรถได้ทั่วเมือง

‘เชียงใหม่’ ผุดรถไฟฟ้าสีแดงเป็นสายแรก วิ่งจากโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกบิ๊กซีหางดง เก็บค่าโดยสาร 27 บาท โดยจะเปิดประมูลปลายปี 63 และเริ่มวิ่งปี 70 ตั้งเป้าเดินในตัวเมืองแค่ 400 เมตร ก็ขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้าได้

a4 1
ทรงยศ กิจธรรมเกษร

นายทรงยศ กิจธรรมเกษร ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการจัดระบบการจราจรและขนส่งภาคเหนือ (ตอนบน) ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า แผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ จังหวัดเชียงใหม่ ได้บรรจุโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 34.93 กิโลเมตร มูลค่ารวม 80,320 ล้านบาท

ในระยะแรก จะเริ่มผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงก่อน ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี (แยกบิ๊กซีหางดง) ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร มูลค่า 24,257 ล้านบาท ซึ่งเส้นทางนี้เป็นโครงสร้างใต้ดิน 70% และบนดิน 30% โดยจะไม่มีโครงสร้างเหนือพื้นดิน เพราะประชาชนไม่ต้องการให้รถไฟฟ้าบดบังทัศนียภาพของตัวเมืองเชียงใหม่

3 แนวทางการลงทุน

  1. รัฐบาลลงทุนทั้งหมด
  2. รัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) โดยรัฐลงทุนงานโยธาและเอกชนเป็นผู้เดินรถ ซึ่งเป็นวิธีที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) สูงสุด
  3. รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นร่วมกันจัดตั้งบริษัท แล้วระดมทุนและลงทุนร่วมกัน 

เบื้องต้นคาดว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563-2564 จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี และเปิดให้บริการได้ในปี 2570

รถไฟฟ้าจะวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง วิ่งจากต้นทางไปถึงปลายทาง 12.54 กิโลเมตร ใช้เวลาเฉลี่ย 25 นาที โดยเมื่อรถไฟฟ้าวิ่งระดับพื้นถนน ร่วมกับรถยนต์คันอื่น รถไฟฟ้าก็จะสื่อสารกับสัญญาณจราจรให้เปลี่ยนเป็นไฟเขียว เพื่อให้เดินทางได้อย่างรวดเร็วและตรงต่อเวลา

ด้านอัตราค่าโดยสารจะเริ่มต้นที่ 15 บาท จากนั้นจะคิดเพิ่มกิโลเมตรละ 1 บาท หรือตลอดเส้นทางจะอยู่ที่ราว 27 บาท/เที่ยว

a2 1

นายทรงยศ กล่าวต่อว่า นอกจากการลงทุนรถราง 3 เส้นทางแล้ว แผนแม่บทฯ จังหวัดเชียงใหม่ ยังบรรจุการลงทุนรถเมล์ เพื่อขนส่งผู้โดยสารระหว่างรถไฟฟ้า และพื้นที่ต่างๆ (Feeder) วงเงิน 6,336 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. ฟีดเดอร์รอง 7 เส้นทาง ซึ่งจะวิ่งเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้าและพื้นที่รอบนอกของเชียงใหม่
  2. ฟีดเดอร์เสริม 7 เส้นทาง ที่จะวิ่งเชื่อมภายในตัวเมืองเชียงใหม่กับรถไฟฟ้า

ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ก็สามารถปรับปรุงเส้นทางรถเมล์ให้เป็นฟีดเดอร์คู่ขนานกันได้ ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการรถเมล์และรถสองแถวแดงในเชียงใหม่ ก็ทราบถึงแนวทางนี้

“ในปี 2570 รถไฟฟ้าสายสีแดงจะสร้างเสร็จ และมีเส้นทางฟีดเดอร์รองรับ ซึ่งจะทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่เดินเจอระบบขนส่งมวลชนภายใน 400 เมตร จากทุกๆ จุดของตัวเมือง ถ้าเดินไป 400 เมตร แล้วไม่เจอสถานีรถไฟฟ้า หรือก็ต้องเจอป้ายรถเมล์แทน”

นอกจากนี้มีข้อเสนอว่า รัฐบาลกลางและท้องถิ่น จังหวัดเชียงใหม่ ควรร่วมมือกันจัดตั้งองค์กรบริหารระบบขนส่งมวลชนภายในจังหวัดตั้งแต่ต้น เพราะมีตัวอย่างจากกรุงเทพฯ ที่มีองค์กรด้านขนส่งมวลชนหลายแห่ง และมีหลายนโยบาย ส่งผลให้เกิดความยุ่งยากภายหลัง

ทั้งนี้ รัฐบาลกลางสามารถส่งตัวแทนเป็นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และจับมือกับหน่วยงานท้องถิ่น เช่น เทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นต้น เพื่อร่วมกันดูแลตั้งแต่เรื่องการเดินรถ ระบบรถราง ระบบฟีดเดอร์ ตั๋วร่วม สถานี และพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี โดยกฎหมายของทั้ง 2 องค์กรก็เปิดช่องให้ดำเนินการได้อยู่แล้ว

a1 1

ทางด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนและการจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า คาดว่าจะเสนอรถไฟฟ้าสายสีแดง จังหวัดเชียงใหม่ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเปิดประมูลปลายปี 2563 เริ่มก่อสร้างปี 2564 และเปิดให้บริการปีในปี 2570

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight