Economics

‘ไพรินทร์’สั่ง‘การบินไทย’ยึดโมเดล‘ปตท.’แก้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน

51

“ไพรินทร์” สั่ง “การบินไทย” ยึดโมเดล “ปตท.” ตั้งศูนย์บริหารการเงินต่างประเทศ แก้ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ลั่นไม่ยุ่ง “นกแอร์” ให้อำนาจบอร์ดบินไทยตัดสินใจเต็มที่

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเดินทางมาตรวจเยี่ยมบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วันนี้ (7 ก.ย.) ว่า ตนเดินทางมาตรวจเยี่ยมการบินไทยเป็นครั้งที่ 2 เพราะวันนี้การบินไทยมีนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ เป็นประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) คนใหม่และนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) คนใหม่ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ แสดงว่าการบินไทยมีความพร้อมถึงขีดสุดและจะเริ่มเดินหน้าไปสู่การเป็นสายการบินแห่งชาติ ที่มีผลประกอบการที่ดีให้กับประเทศ

แม้ที่ผ่านมาการบินไทยประสบการณ์ปัญหาขาดทุนบ้าง แต่ก็เกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหากการบินไทยมีความพยายามมากขึ้น ก็น่าจะพลิกผลประกอบการขาดทุนเป็นกำไรได้ โดยขอให้การบินไทยดำเนินการตามแผนฟื้นฟูที่สัญญาไว้กับคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)

อย่างไรก็ตาม นายไพรินทร์ยอมรับว่า แม้การบินไทยจะดำเนินการตามแผนฟื้นฟูแล้ว แต่ก็ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย เช่น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงถึง 70 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งการบินไทยก็ต้องหาเครื่องมือจัดการกับความผันผวนจากราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนให้ได้

“รายรับและหนี้สินของการบินไทยมีหลายสกุลเงิน อาจจะต้องมองในภาพใหญ่ ก็ให้ตัวอย่างว่า ปตท. เขามีศูนย์บริหารการเงิน (PTT Regional Treasury Center : RTC) อยู่ที่สิงคโปร์ เพราะเขาก็เคยมีปัญหาพวกนี้มาก่อน แต่ตอนนี้ก็สามารถบริหารเงินหลายสกุลได้ที่สิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์เป็น Free port ก็ฝากทางฝ่ายจัดการของการบินไทยว่า แล้วโมเดลของการบินไทยจะบริหารอย่างไร” นายไพรินทร์ กล่าว

สำหรับการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อซื้อฝูงบินใหม่จำนวน 23 ลำ วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาทนั้น นายไพรินทร์ระบุว่า บอร์ดการบินไทยควรเร่งหาข้อยุติและเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาโดยเร็วที่สุด เพราะเครื่องบินเป็นเครื่องมือในการหารายได้ของบริษัท นอกจากนี้ ได้ให้คำแนะนำแก่การบินไทยหลายเรื่อง เช่น การบินไทยจะต้องบริหารจัดการเป็นกลุ่ม คือ ไทยกรุ๊ป ซึ่งประกอบด้วยสายการบินไทย นกแอร์ และไทยสมายล์

ด้านไทยสมายล์และนกแอร์ ที่การบินไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีผลประกอบการติดลบค่อนข้างมากนั้น นายไพรินทร์ก็มอบให้บอร์ดการบินไทยพิจารณาและตัดสินใจเรื่องต่างๆ พร้อมยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการหารือเรื่องเพิ่มทุนให้นกแอร์และขอให้รอฟังจากบอร์ดการบินไทยเอง

“ที่ดีที่สุดก็คือให้คณะกรรมการตัดสินบนพื้นฐานของเหตุและผล แล้วก็ทางฝ่ายการเมืองจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในส่วนนี้” นายไพรินทร์กล่าว

กรณีภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นนั้น นายไพรินทร์ คาดว่าจะกระทบต่อการบินไทยบ้าง เพราะการบินไทยมีเส้นทางญี่ปุ่นค่อนข้างมาก แต่ประเทศญี่ปุ่นก็มีสนามบินท้องถิ่นจำนวนมาก เช่น ใกล้ๆ คันไซก็มีสนามบินโกเบ อีกทั้งคาดว่าญี่ปุ่นคงฟื้นตัวในเวลาอันสั้น เพราะเป็นประเทศที่มีความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยี

53

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตนจะรับนโยบายเรื่องการจัดศูนย์บริหารการเงินของนายไพรินทร์ไปพิจารณาและดำเนินการตาม นอกจากนี้จะดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฉบับปัจจุบัน เพราะถ้าทบทวนแผนฟื้นฟูใหม่จะต้องเสียทรัพยากร งบประมาณ และเวลาเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันแผนฟื้นฟูเดิมก็ถูกออกแบบด้วยเจตนาดี หน้าที่ของตนคือเดินหน้าและส่งมอบงานได้ตามแผนฟื้นฟู

นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเห็นว่าการบินไทยมีทรัพยากรที่ดีมาก เช่น ด้านบุคลากร เส้นทาง และตารางบิน เพียงแต่วันนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงในท้องตลาด เช่น การเปิดน่านฟ้า การเข้ามาของสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline) ที่มีผลกระทบเร็วและแรง ถ้าหากรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐใดปรับตัวไม่ทัน ก็จะได้รับผลกระทบ

สำหรับเรื่องต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้น ตนคิดว่าการบินไทยบริหารได้ดีเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยต้นทุนน้ำมันมีสัดส่วน 30% ของต้นทุนทั้งหมด ด้านการทำตลาดก็ไม่มีปัญหา เพราะอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ต้นทุนต่อหน่วย (Yield) ยังต่ำกว่าคู่แข่งเล็กน้อย ในภาพรวมการบินไทยจึงไม่ได้แย่มากอย่างที่หลายคนพูดกัน เพียงแต่การบินไทยมีปัญหาบางอย่าง เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุนน้ำมัน ซึ่งก็ต้องแก้ไขเป็นเรื่องๆ ไป

นอกจากนี้ ตนจะใช้ความชำนาญด้านการเงิน มาช่วยบริหารการบินไทย โดยจะแกะตัวเลขในบัญชีทั้งหมดออกมา และได้คุยกับทีมงานแล้วว่า จะแกะตัวเลขออกมาอย่างรวดเร็วแน่นอน แต่ตอนนี้จะยังให้คำตอบเรื่องระยะเวลาที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะตนเพิ่งรับตำแหน่งแค่ 5 วันเท่านั้น

“อย่าคาดหวังกับอะไรที่คนจำนวนมากทำไม่ได้มาเป็นเวลานานๆ แล้วให้ผมกดปุ่มแล้วแก้ได้ใน 7 วัน หรือ 4 เดือน มันเป็นไปไม่ได้ ท่านดูมันจะมีความคืบหน้าและมีคำตอบให้แน่นอน เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ได้ตอบอย่างชัดเจน” นายสุเมธกล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เตรียมนัดหารือกับผู้บริหาร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เรื่องการใช้อาคารผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิว่า การบินไทยจะอยู่อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 เหมือนเดิม หรือจะย้ายไปอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ซึ่งกำลังจะก่อสร้าง โดยหลักการของตน คือ ทอท. และการบินไทย ควรจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ

Avatar photo