Economics

เศรษฐกิจไทยช้ำหนัก! จีดีพีไตรมาส 2 ดิ่งแรง 12.2% คาดทั้งปีติดลบ 7.5%

เศรษฐกิจไทย ช้ำหนัก! “สภาพัฒน์” เผย “จีดีพี” ไตรมาส 2 ติดลบ 12.2% ทั้งปีคาดติดลบ 7.5% ภายใต้สมมติฐานการแพร่ระบาดรอบ 2 ที่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ คาดเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะ เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2/2563 ติดลบ 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยครึ่งปีแรก 2563 เศษฐกิจไทยติดลบ 6.9% โดยสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศ ใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ และ การเดินทางข้ามประเทศ

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า ทั้งปีจีดีพีจะติดลบ 7.5% ภายใต้สมมติฐาน การแพร่ระบาดรอบ 2 ที่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ มีการจำกัดการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนถึงสิ้นปี 2563 แล ะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน จะไม่ทวีความรุนแรง หรือมีมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจไทย

ขณะที่การส่งออกไทยไตรมาส 2 ติดลบ 17.8% หากไม่รวมการส่งออกทองคำ จะติดลบ 21.4% ซึ่งเป็นไปตามภาวะถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจ และ การค้าโลก

“มองว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 เป็นจุดต่ำสุด และจะเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 3 และ 4 ส่วนจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน ยังขึ้นอยู่กับการพัฒนาวัคซีน หากเป็นไปตามคาด จะมีวัคซีนออกมาใช้กับคนกลางปีหน้า จะทำให้เศรษฐกิจไทย ฟื้นชัดเจนช่วงครึ่งปีหลังปี 2564 ดังนั้น ขณะนี้ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อประคองเศรษฐกิจ ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ การสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ การออกมาตรการกระตุ้น การใช้จ่ายของกลุ่มผู้ที่ยังมีกำลัง” นายทศพร กล่าว

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ เสนอแนะภาครัฐ ควรประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ติดตามมาตรการที่ดำเนินไปแล้ว ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย มีความยืดหยุ่น พิจารณามาตรการเพิ่มเติม สำหรับธุรกิจ และ แรงงานในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาในการฟื้นตัว การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า และ สนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนเอกชน การดูแลภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และการลดลงของราคาสินค้าส่งออก

การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐงบปี 2563 และงบปี 2564 ไตรมาสแรก รวมทั้งงบเหลื่อมปี การส่งเสริมไทยเที่ยวไทย การเตรียมรองรับความเสี่ยงสำคัญ ที่อาจเกิดขึ้นจากความยืดเยื้อ ของการระบาดของโรคและการกลับมาระบาดระลอก 2 รวมทั้งการรักษาบรรยากาศ ทางการเมืองในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติม ปัญหาเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทย

นายทศพร กล่าวอีกว่า ขณะนี้หนี้ภาคครัวเรือน ต่อจีดีพีไตรมาส 1/2563 พุ่งขึ้นมาอยู่ 80.1% สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2559 ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่รับได้ แต่มีโอกาส ที่หนี้ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้คนมีรายได้มากขึ้น เพื่อส่วนหนึ่งนำไปชำระหนี้คืน

ขณะที่ มาตรการพักชำระหนี้ จะมีการต่ออายุออกไปหรือไม่ ต้องติดตามการแถลงของนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนใหม่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าห่วงที่สุดในขณะนี้ คือ ตัวเลขผู้ว่างงาน ล่าสุด มีแรงงานที่อยู่ในระบบตกงานเพิ่มขึ้น 420,000 คน และอีก 1.7 ล้านคน ยังมีสถานะเป็นผู้มีงานทำ แต่ยอมลดเงิน หรือ หยุดทำงานชั่วคราว โดยไม่รับเงินเดือน แต่คนกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงที่จะตกงาน หากสถานการณ์เศรษฐกิจ ยังไม่ดีขึ้น และ ธุรกิจต้องปิดกิจการลง

นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อีก 16 ล้านคน อาจขาดสภาพคล่อง ซึ่งภาครัฐต้องเข้าไปดูแลเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โควิด-19 ในไทยเกิดการระบาดรอบ 2 รุนแรงถึงขั้นล็อกดาวน์เศรษฐกิจอีกรอบ อาจมีคนตกงานเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านคน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo