Economics

เช็ค 7 สัญญาณอันตรายที่ควรรู้ ก่อนเจอวิกฤติทางการเงิน!

สัญญาณอันตราย 7 ข้อควรรู้ ก่อนจะมีหนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด พร้อมแนะวิธีการ “รวมหนี้” ทางออกในการแก้ปัญหาหนี้ล้น ชักหน้าไม่ถึงหลัง

หากคุณมัวเพลิดเพลินกับการช้อปปิ้ง จนลืมเช็คเงินในกระเป๋า ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ คุณอาจเผชิญกับวิกฤติทางการเงินอย่างคาดไม่ถึง หากคุณเริ่มจัดระเบียบกระเป๋าเงินใหม่ เพื่อป้องกันหนี้ท่วมหัวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช็ค 7 สัญญาณอันตราย ที่คุณควรรู้ เพื่อตรวจสอบสภาพเงินในกระเป๋า ก่อนจะสายเกินไป ดังนี้

สัญญาณอันตรายที่ 1 ไร้เป้าหมายการใช้เงินคือตัวก่อการหนี้ชั้นดี หากไม่เคยคำนวณรายได้กับรายจ่ายเมื่อหักล้างกัน ไม่เคยวางแผนเงินเหลือเก็บต่อเดือน ไม่เคยแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายรายเดือนว่าหมดไปกับอะไรบ้าง ถือเป็นการไร้เป้าหมายที่น่ากลัว เพราะเป็นการการกระตุกให้เรามีนิสัยพร้อมจ่ายเร็วแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง พอกพูนหนี้ทุกเดือนแบบไม่รู้ตัว

สัญญาณอันตราย

สัญญาณอันตรายที่ 2 จำไม่ได้ด้วยว่าตัวเองมีหนี้เท่าไหร่ แววไม่ไฉไลของการเริ่มผิดวินัยทางการเงินร้ายแรง หากไม่เคยสนใจหรือรับรู้ว่าภาระผูกพันต้องชำระตอนสิ้นเดือน ได้แต่รูดบัตรเครดิตจ่ายไปตามบิลที่เรียกเก็บเท่านั้น มารู้อีกทีก็สะดุ้งเฮือกชักหน้าไม่ถึงหลังเข้าแล้ว หรือเมื่อโดนทวงหนี้ทางข้อความ ทางโทรศัพท์ หรือใบแจ้งยอดในกล่องไปรษณีย์ ที่มาพร้อมยอดหนี้บีบหัวใจให้หล่นไปถึงตาตุ่ม

สัญญาณอันตรายที่ 3 ไม่มีเงินเก็บสำรองไว้ฉุกเฉิน เงินในบัญชีเข้าเร็วแต่หมุนออกเร็วกว่าจนตัวเลขคงเหลือต่ำเตี้ย หากเกิดอุบัติเหตุกับตัวเองหรือสมาชิกครอบครัว แล้วพบว่าไม่มีเงินสดเพียงพอจ่ายเงินค่ารักษา ต้องหันไปพึ่งบัตรเครดิต หรือโทรหยิบยืมจากคนอื่น ขอให้เห็นไฟสีแดงกระพริบเตือนเลยว่าเข้าขั้นวิกฤตแล้ว เพราะไร้สภาพคล่อง ต้องรีบแก้ไขวินัยทางการเงินด่วน

สัญญาณอันตรายที่ 4 ยอดหนี้แตะ 45%ของรายได้ ให้รวมหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือนทั้งหมด เช่น ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าบัตรเครดิต หารด้วยรายได้ต่อเดือน แล้วคูณ 100 ถ้าออกมาเกิน 45% ของรายได้ เครดิตบูโร บอกเลยว่า นี่คือสัญญาณอันตราย เพราะเงินเกือบครึ่งที่ได้เทให้หนี้เก่าหมด โดยที่ยังไม่รวมค่าภาษี ค่าประกันสังคม เงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่ต้องควักอีกราว 20% ต่อเดือน และค่าใช้จ่ายรายวันอีกต่างหาก แบบนี้มีความเสี่ยงต้องกู้เงินมาใช้หนี้อีกต่อ

สัญญาณอันตรายที่ 5 ดินพอกหางหมู กู้หนี้ใหม่ผ่อนหนี้เก่า เพราะรายได้ไม่พอกับรายจ่ายที่มีมากเกิน จนต้องไปหาเงินส่วนอื่นมาโปะหนี้ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่กดบัตรเงินสด หมุนเงินจากบัตรเครดิต หรือเข้าตาจนถึงขั้นไปกู้หนี้นอกระบบ แต่ก็ชำระได้เพียงยอดขั้นต่ำ แถมต้องแลกกับดอกเบี้ยสูงปรี๊ด ถือเป็นการหมุนเงินในทางที่ผิด เพราะไม่สามารถชำระหนี้หมดทั้งก้อนได้ เงินต้นไม่ลด แถมดอกเบี้ยพอกพูนยังไปเรื่อยๆ เป็นปัญหาหนักในที่สุด

สัญญาณอันตรายที่ 6 กลัวคนอื่นจะรู้ว่าเป็นหนี้ โดยเฉพาะคนใกล้ตัวในครอบครัวเดียวกัน แม้ปัจจุบันใบเรียกชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ จะพุ่งตรงเข้ามาในอีเมล์แล้ว แต่ยังมีความกังวลว่าคนที่บ้านจะรู้ หรือหากมีโทรศัพท์มาทวงหนี้ ก็จะเริ่มจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว สัญญาณแบบนี้บ่งบอกว่า ตัวคุณเองก็รู้ว่าหนี้ก้อนนั้นเริ่มคุกคามหนัก จนควรรีบหาทางปลดออกได้แล้ว

สัญญาณอันตรายที่ 7 หนี้ล้นจนมีผลต่อการใช้ชีวิต หากเริ่มมีความเครียดเกาะกุม กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ขาดสมาธิทำงาน เพราะมัวแต่คิดวิธีหาเงินมาจ่ายหนี้ก้อนโต อาการนี้ต้องเข็นเข้าห้องไอซียู รีบรักษาด้วยการหาวิธีผ่อนชำระหนี้ให้เร็วที่สุด และที่สำคัญคือ ต้องปฏิวัติวินัยการใช้เงินใหม่ ห้ามใช้จ่ายฟุ้งเฟ้ออีกเป็นอันขาด

ถ้าพบสัญญาณเหล่าเกิดขึ้นกับตัวเอง โปรดรู้ไว้ว่า ชีวิตคุณกำลังเข้าสู่ระยะอันตรายอย่างยิ่ง ต้องคอยตีมือตัวเองแรงๆ ให้หยุดขยันช้อปเสียที ก่อนที่หนี้จะทำให้เราเสียใจ

อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีหนี้สินจำนวนมาก เงินแต่ละเดือนต้องเอาไปจ่ายหนี้เกือบทั้งหมด “การรวมหนี้” คือทางออกหนึ่งเพื่อแก้ปัญหา

การรวมหนี้ คือ การที่เรานำหนี้ที่เรามีอยู่จากหลายๆ ที่ทั้งในและนอกระบบ หรือจากบัตรเครดิตหลายๆ ใบ เอามารวมไว้ที่เดียวกัน เพื่อขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงินในระบบ มาปิดหนี้ดอกแพงทั้งหมดนี้ทันที แล้วมาเลือกผ่อนเป็นรายงวดคืนให้กับธนาคารด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง

รวมหนี้

รวมหนี้ จะเป็นประโยชน์มาก สำหรับผู้ที่มีความตั้งใจในการปิดหนี้ทั้งหมด ให้มีการชำระหนี้เพียงที่เดียว การรวมหนี้ที่เป็นประโยชน์ คือ หนี้เดิมที่เรามีอยู่นั้นมีอัตราดอกเบี้ยที่แพงมาก เช่น หนี้นอกระบบ เมื่อทำการรวมหนี้ เราจะได้อัตราดอกเบี้ยในระบบ ที่มีอัตราที่ถูกลง

อย่างไรก็ตาม ในการรวมหนี้นั้น ต้องเข้าเงื่อนไขของการให้สินเชื่อส่วนบุคคลของสถาบันการเงิน โดยเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้สถาบันการเงินสามารถให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน

แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้กู้จะสามารถกู้ได้เต็มวงเงินทุกราย สถาบันการเงินแต่ละแห่ง จะมีเงื่อนไขการพิจารณาที่แตกต่างกัน แต่โดยมาก จะดูจากประวัติการเงินที่ผ่านมา เช่น ประวัติการผ่อนชำระที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เคยค้างชำระหรือไม่ มีสินเชื่ออะไรบ้างและวงเงินสูงสุดที่ได้เป็นเท่าไหร่ ซึ่งผู้ที่มีประวัติการชำระเงินที่ดี ชำระตรงเวลา มีโอกาสสูงที่จะได้รับพิจารณาจากสถาบันการเงิน

เมื่อเรารู้แล้วว่าการรวมหนี้คืออะไร เรามาลองดูข้อดีจากการรวมหนี้กัน

หนี้ทั้งหมดที่เรามีจากหลายๆ ที่ ก็จะถูกนำมารวมเป็นหนี้ก้อนเดียวกัน และดอกเบี้ยก็จะถูกคิดที่หนี้ก้อนที่รวมแล้วเพียงที่เดียว คุณก็จะเหลือภาระจ่ายหนี้ที่สถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว ทำให้ไม่วุ่นวาย สับสนว่าควรจะจ่ายหนี้ก้อนไหนก่อนดี และจ่ายเท่าไหร่ดี

ทำให้เราไม่ต้องปวดหัวกับการโดนโทรทวงถามจากหลายๆ เจ้าหนี้

มีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง โดยมากในช่วงแรกของการผ่อน สถาบันการเงิน มักให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต แต่ในช่วงท้าย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อรวมหนี้ อาจสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตได้ หากคุณมีหนี้ทั้งหนี้นอกระบบและ หนี้บัตรเครดิต คุณจะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง เพราะโดยมากอัตราดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบ จะแพงกว่าอัตราดอกเบี้ยในระบบมาก

อย่างไรก็ตาม หากมีแต่ “หนี้บัตรเครดิต” เพียงอย่างเดียว คุณต้องพิจารณาเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ได้รับ เพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย

รวมหนี้

จํานวนเงินที่ต้องผ่อนชําระต่อเดือนจะต่ำลง ทำให้ภาระรายจ่ายต่อเดือนลดลง ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตัวคุณได้ ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. มีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาท มีหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด 4 ใบ จำนวน 20,000 บาท 30,000 บาท 40,000 บาท และ 50,000 บาทตามลำดับ รวมยอดหนี้ทั้งสิ้น 140,000 บาท

หากนาย ก. จ่ายหนี้บัตรเครดิตที่ขั้นต่ำ 10% คิดเป็นจำนวนเงินที่ต้องจ่ายหนี้บัตรเครดิตต่อเดือนทั้งสิ้น 14,000 บาท ทำให้นาย ก. เริ่มจ่ายไม่ไหว นอกจากนี้ การจ่ายที่ขั้นต่ำ ก็ไม่สามารถทำให้นาย ก. ปลดหนี้บัตรเครดิตทั้ง 4 ใบลงได้ หากนาย ก. ต้องการรวมหนี้ โดยขอวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลจำนวน 140,000 บาท จะทำให้นาย  ก.ต้องผ่อนชำระยอดหนี้เดือนละ 6,806 บาทเท่านั้น
(คำนวณจากเงินต้น 140,000 บาท สมมติอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 25% ต่อปี ระยะเวลาการผ่อน 3 ปี) จะเห็นได้ว่าสามารถลดอัตราการผ่อนชำระหนี้ลงได้ถึง 7,194 บาทต่อเดือน ทำให้นาย ก. มีสภาพคล่องเหลือเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปวางแผนการเงินด้านอื่นๆ ต่อไปได้

การรวมหนี้ จะทำให้เรารู้ระยะเวลาการผ่อนหนี้ที่แน่นอน เช่น 3 ปี 5 ปี (ตามข้อตกลงของแต่ละสถาบันทางการเงิน) ทำให้เราสามารถวางแผนการเงินได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสปลดหนี้ได้ง่ายกว่า เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น หากคุณสามารถจ่ายหนี้บัตรเครดิตได้แค่เพียงขั้นต่ำ 10% คุณจะไม่สามารถปลดหนี้บัตรเครดิตทั้งหมดได้เลย เพราะคุณจะถูกคิดดอกเบี้ย ค่าทวงถามและค่าปรับต่างๆ จากบัตรเครดิตอยู่ตลอดเวลา จนทำให้คุณรู้สึกว่าทำไมผ่อนไปเท่าไหร่ มูลหนี้บัตรเครดิตของคุณถึงไม่ลดลงสักที

หากคุณกำลังประสบปัญหาหนี้สินที่เริ่มมากขึ้นและใช้จ่ายไม่คล่องมือ ลองพิจารณาทางเลือกของการรวมหนี้ โดยการเปรียบเทียบ และหาทางเลือกที่เหมาะสมกับตัวคุณเองให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม วิธีที่จะจัดการกับหนี้ได้ดีที่สุดก็คือ การมีวินัยทางการเงินที่ดี อย่าใช้จ่ายเกินตัว อย่าก่อหนี้เพิ่ม และต้องมีความอดทนในการชำระหนี้ เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลา หากคุณไม่ละทิ้งซึ่งความพยายามแล้วล่ะก็ คุณจะสามารถปลดหนี้ และสร้างฐานะการเงินที่ดีขึ้นใหม่ได้อย่างแน่นอน

ที่มา : ธนาคารไทยพาณิชย์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo