Economics

‘ผู้ว่าการ ธปท.’ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคลัง ยันไทยยังไม่เสี่ยงเงินฝืด!

ผู้ว่าการ ธปท. ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง “รมว.คลัง” แจงแม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ แต่ไม่ได้แสดงว่าไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงภาวะเงินฝืด

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1 – 3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง

และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2563 และระบุให้ กนง. มีจดหมายเปิดผนึกหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนั้น

ผู้ว่าการ ธปท.

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 กระทรวงพาณิชย์ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ -1.57% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (กรกฎาคม 2562-มิถุนายน 2563) อยู่ที่ -0.31% ประกอบกับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า(กรกฎาคม 2563-มิถุนายน 2564)

ตามรายงานนโยบายการเงินเดือนมิถุนายน 2563อยู่ที่ -0.9% ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปี 2563

ดังนั้น กนง. จึงขอเรียนชี้แจงถึง

1. สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย
2. ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย
3. การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (กรกฎาคม 2562-มิถุนายน 2563) และประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (กรกฎาคม 2563-มิถุนายน 2564) ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวรุนแรงในปี 2563 และระยะเวลาของการฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนสูง

โดยการแพร่ระบาดในครั้งนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ลดลงมากและปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต (supply chain disruption) รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ลดลงมากตามมาตรการควบคุมการระบาดและการว่างงานที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภายหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดลงอีกด้วยบริบทของเศรษฐกิจโลกและไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อไทยในช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (กรกฎาคม 2562-มิถุนายน 2563) อยู่ที่ -0.31% ปรับลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ 1.04% และอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่ติดลบต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลงตามการหดตัวของเศรษฐกิจไทยที่รุนแรงกว่าคาด

โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะหดตัวที่ 8.1% ลดลงจากประมาณการในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19
ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.8% นอกจากนี้ มาตรการของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลออีกทางหนึ่งด้วย

ในระยะข้างหน้า กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยอาจจะยังอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่งและยังมีความไม่แน่นอนสูง โดย กนง. ประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย12 เดือนข้างหน้า (กรกฎาคม 2563-มิถุนายน 2564) อยู่ที่ -0.9% ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน จากแรงกดดันด้านอุปทานที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ

เนื่องจากราคาพลังงานโลก ยังถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลก ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดลงบ้างในหลายประเทศ แต่ยังคงมีการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ทำให้มีข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ

นอกจากนี้ ราคาสินค้ายังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีกำลังการผลิตส่วนเกิน ในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกตามเศรษฐกิจโลกที่จะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ดี ราคาพลังงานอาจมีแนวโน้มผันผวนสูงตามความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risk)

ผู้ว่าการ ธปท.

ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่า การที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ ไม่ได้แสดงว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงภาวะเงินฝืด (deflation risk) ในปัจจุบัน โดยพิจารณาจาก 4 เงื่อนไข ได้แก่

1. ราคาสินค้าและบริการไม่ได้มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องยาวนาน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางสูงขึ้นและเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564

2. ราคาสินค้าและบริการหดตัวเฉพาะในบางประเภท โดยราคาของสินค้าและบริการกว่า 70% ของจำนวนสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นหรือทรงตัว ต่างจากกรณีภาวะเงินฝืดที่ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่จะหดตัว

3. การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสาธารณชนในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะ 5 ปีข้างหน้าจากการสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ 1.8% อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามและประเมินเงื่อนไขสุดท้ายว่า

4. อุปสงค์และการจ้างงานจะไม่ชะลอลงยาวนานต่อเนื่องหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด โดยจะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ทั้งรายได้ การจ้างงาน รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจ ตลอดจนสื่อสารกับสาธารณชนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด

ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

แม้ว่าประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (กรกฎาคม 2563-มิถุนายน 2564) จะอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย แต่ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564

โดยแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์จะทยอยปรับดีขึ้นจากนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง ซึ่งช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและช่วยฟื้นฟูกำลังซื้อของประชาชน ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดและพลังงาน สอดคล้องกับทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง

ทั้งนี้ ภายหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มหดตัวและเสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

โดยการส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่หดตัวและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทั่วโลก สำหรับอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวจากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและมาตรการควบคุมโรคระบาดที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงมาก

ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบและอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ดังนั้น กนง. จึงมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จาก 1.25% ต่อปี ณ สิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ 0.50% ต่อปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และสนับสนุนให้ดำเนินการควบคู่กับการปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จาก 0.46% เป็น 0.23% ของฐานเงินฝากเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายเพิ่มขึ้นและลดต้นทุนทางการเงินให้ภาครัฐและเอกชน

รวมถึงสอดรับกับมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการไป ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ กนง. ยังสนับสนุนให้ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและเร่งดำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ธุรกิจ รวมถึงผ่อนผันกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินอื่น

ในระยะต่อไป กนง. เห็นว่ามาตรการการคลัง มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านสินเชื่อจำเป็นต้องประสานกันอย่างใกล้ชิดให้ตรงจุดและทันการณ์ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจไม่ให้ลุกลามและเร่งกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

โดยมาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทหลักที่จำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาศักยภาพการเติบโตในระยะต่อไป

ขณะที่นโยบายการเงินยังจำเป็นต้องผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่งเพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง ซึ่งจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะต่อไป รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินจากปัญหาสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ

คลิกอ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับเต็มที่นี่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo