Economics

สกพอ.จับมือ ‘กรมการพัฒนาชุมชน-ม.บูรพา’ ทำโครงการบัณฑิตอาสา สำรวจผลกระทบอีอีซี

บัณฑิตอาสาเป็นกลไกในการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และพัฒนาพื้นที่ชุมชนเป็นการสร้างโอกาส สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้แก่บัณฑิตที่ว่างงาน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ที่ปรึกษาพิเศษด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สกพอ. กรมการพัฒนาชุมชน และมหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินงานโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อให้บัณฑิตอาสา เป็นกลไกในการสำรวจผลกระทบ จากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการพัฒนาพื้นที่ชุมชน

bundit

ทั้งเพื่อสร้างโอกาส และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และท้องถิ่นให้แก่บัณฑิตที่ว่างงาน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และท้องถิ่น ตามนโยบายของรัฐบาล ให้มีการกระจายความรู้และวิทยาการที่ทันสมัยเข้าสู่ชุมชน ผสมผสานกับวิถีดั้งเดิมเพื่อนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาชุมชนที่ดีและยั่งยืน เป็นผลดีต่อการพัฒนาอีอีซีในระยะยาว

นายเกษมสันต์ กล่าวต่อว่า โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นแนวคิดที่ สกพอ. ร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นมา เนื่องจากในช่วงนี้เด็กจบใหม่ โดยเฉพาะเด็กที่จบปริญญาตรี มีโอกาสตกงานค่อนข้างสูง และหางานตามบริษัทต่างๆ ค่อนข้างยาก โดยสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้พยายามให้เด็กกลุ่มนี้เข้ามามาทำงาน ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้คนในพื้นที่ มีส่วนร่วมมากขึ้น

โครงการนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมพัฒนาชุมชน และ มหาวิทยาลัยบูรพา มีการจัดหลักสูตรอบรมภาคทฤษฏี 10 วัน ภาคปฏิบัติ 15 วัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าไปพุดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีพี่เลี้ยงจากพัฒนาจังหวัด และพัฒนากรอำเภอ เข้ามาดูแล

ระยะแรกของโครงการต้องการเด็กจบใหม่ อำเภอละ 3 คน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากทางมหาวิทยาลัยบูรพา โดยน้องเข้าร่วมโครงการหลักสูตร จะได้รับเทียบโอนหน่วยกิตได้ 6 หน่วยกิต ซึ่งน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถนำความรู้ที่ได้ ไปต่อยอดกับการเรียนในอนาคต เช่น คณะรัฐศาสตร์ หรือ พัฒนาชุมชน ได้

ส่วนการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการจะเลือกจากผู้สำเร็จปริญญาตรี จากอำเภอต่างๆ อำเภอละ 3 คน ซึ่งจะมีการสำรองไว้อีก 3 คน สำหรับโครงการในระยะต่อไป

ทางด้านผศ.ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล ผู้รักษาราชการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัย จะมีบทบาทในเรื่องของการพัฒนาหลักสูตรในการฝึกอบรมบัณฑิตอาสา ก่อนที่จะลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จริง และทางอาจารย์มหาวิทยาลัยจะเข้าไปส่วนร่วมให้กับบัณฑิต ในช่วงลงพื้นที่อีกด้วย

1DA7C6CC 0D6D 4A47 8947 52D5F1118E34

ในส่วนของบัณฑิตอาสา ที่ผ่านการอบรมแล้วจะนำหลักสูตรอบรมภาคทฤษฏี 10 วัน ภาคปฏิบัติ 15 วัน มาเก็บไว้ในธนาคารเครดิต ซึ่งจะนำเก็บไว้เป็นหน่วยกิต เพื่อให้บัณฑิตอาสาที่ต้องการจะเรียนต่อในปริญญาโทต่อไป เพื่อนำมาเทียบโอนหน่วยกิตต่อไป

ขณะที่ นายร่องกี้ พลเยี่ยม ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน ถือเป็นองค์กรที่ครอบคลุมในเขตพื้นที่ปฏิบัติการ ก็จะทำหน้าที่ในการรับสมัครบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในปี 2563 เพื่อเข้ามาร่วมโครงการ  ผ่านกลไกของพัฒนาชุมชนอำเภอในการรับสมัคร และมีการสอบสัมภาษณ์จากพัฒนาการจังหวัด โดยบัณฑิตอาสา จะต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่จริง ทางกรมจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำแนะนำข้อมูลต่างๆ ต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo