“หอการค้าไทย” เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายนดีขึ้น จากระดับ 40.2 ในเดือนที่ผ่านมาสู่ระดับ 41.4 แต่ยังต่ำสุดในรอบ 21 ปี แนะรัฐเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2563 โดยรวมแทบทุกรายการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจและธุรกรรมต่าง ๆ ได้ในระยะที่ 1-4 ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับ รัฐบาลใช้มาตรการดูแลเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19 ที่ได้เยียวยาทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ ทำให้ดัชนีความเขื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมิถุนายนจากระดับ 40.2 ในเดือนที่ผ่านมาสู่ระดับ 41.4
ทั้งนี้ แม้ดัชนีความเขื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม แต่ยังอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 21 ปี หลายรายการด้วยกัน ดังนั้น คาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใข้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อยกว่า 3 – 6 เดือนนับจากนี้เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ทางการเมืองจะดีขึ้นกว่านี้ พร้อมกับรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนให้มากขึ้นที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนกังวลใจอยู่มาก คือ แม้จะมีมาตรการผ่อนคลายแต่กลัวว่าจะติดการแพร่ระบาดการกลับมาอีกของโควิดรอบ 2 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมากและจะส่งผลภาวะการจ้างงานในอนาคตนับหลายแสนคนได้นั่นหมายถึงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจไทยถดถอยได้
ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งนำเงินกว่า 400,000 ล้านบาท เข้าสู่ระบบและการหาแนวทางเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจเร่งด่วน และเท่าที่ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะเริ่มดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้ทางศูนย์ฯ จะประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่และจะเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับสถาบันอื่น ๆ ที่มองไว้ คือ จีดีพีไทยปีนี้จะติดลบอยู่ที่ 8-10% จากเดิมอยู่ติดลบที่ 3.5-5% ขณะที่ตัวเลขการส่งออกติดลบอยู่ที่ 8-10% เช่นกัน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ส.อ.ท.’ เผยดัชนีเชื่อมั่นฯ ขยับขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
- เฮ!! ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.ปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน
- เอกชนหวั่นโควิด! ฉุดดัชนีเชื่อมั่นฯเดือนเม.ย.ร่วงต่ำสุดในรอบ 11 ปี