Economics

มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว คาดช่วยดันรายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยเพิ่ม 4 หมื่นล้าน!

มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศของรัฐบาล หนุนคนไทยเที่ยวในประเทศ ดันรายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยเพิ่ม 41,000 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ในประเทศของภาครัฐจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 อีกทั้งยังน่าจะมีผลทางจิตวิทยากระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวและก่อให้เกิดการใช้จ่ายในสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลทางบวกเพิ่มเติมต่อทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้

3 มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ของรัฐบาล​

1. โครงการกำลังใจรัฐบาล สนับสนุนค่าเดินทางของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวม 1,200,000 คน ให้เดินทางโดยการใช้บริการกับบริษัทนำเที่ยว โดยรัฐจะสนับสนุนไม่เกินคนละ 2,000 บาท สำหรับการเดินทางไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน

2. โครงการเที่ยวปันสุข รัฐบาลสนับสนุนการเดินทางของประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน โดยการจำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการขนส่งด้านการท่องเที่ยว 3 กลุ่ม ได้แก่ สายการบินในประเทศไทย รถขนส่งไม่ประจำทางข้ามจังหวัด และรถเช่าในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 1,000 บาท

3. โครงการเราไปเที่ยวกัน รัฐบาลสนับสนุนค่าโรงแรมที่พักในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) จำนวน 5,000,000 คืน ในอัตราร้อยละ 40 ของค่าห้องพักแต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าอาหารและค่าใช้จ่ายสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการมูลค่า 600 บาทต่อห้องต่อคืน โดยจะต้องมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวัดในทะเบียนบ้านของประชาชนผู้จองที่พัก

มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว

 

จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้ตอบแบบถามประมาณ 47.7% มองว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่าง 60.1% มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 1-3 เดือน (หลังการคลายล็อก)

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าผลของมาตรการภาครัฐ น่าจะทำให้คนไทยตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และสร้างเม็ดเงินรายได้ส่วนเพิ่มในตลาดไทยเที่ยวไทยอีกประมาณ 41,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการฯ

อย่างไรก็ตาม ด้วยกำลังซื้อที่เปราะบางตามภาวะเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตลาดจะยังไม่สามารถพลิกมาเป็นบวก และทำให้ทั้งปี 2563 คนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะอยู่ที่ 89.5-91.5 ล้านคน-ครั้ง หรือหดตัว 46.4% ถึงหดตัว 45.2% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะมีมูลค่า 545,000-567,000 ล้านบาท หรือหดตัว 49.5% ถึงหดตัว 47.5% จากปีที่ผ่านมา ภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีการระบาดรอบใหม่ที่รุนแรงในไทย แต่เป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ดีกว่าที่เคยประเมินไว้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2563

การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย ถ้าไม่มีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว 79.5-89.5 ล้านคน-ครั้ง เมื่อมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว 89.5-91.5 ล้านคน-ครั้ง รายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย ถ้าไม่มีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว 4.85-5.45 ล้านบาท เมื่อมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว 5.45-5.67 ล้านบาท 

กว่า 60.1% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 1-3 เดือนหลังการคลายล็อก เนื่องจากอยากเปลี่ยนบรรยากาศหลังการ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ ช่วยชาติ’ มานาน และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่งกลับมาสวยงาม จึงอยากเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนี้ การจัดโปรโมชั่นด้านราคาของผู้ประกอบการ ก็มีส่วนกระตุ้นความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวเช่นกัน อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ของกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ ยังไม่ได้วางแผนช่วงเวลาที่แน่นอนของการเดินทางท่องเที่ยว เพราะยังรอติดตามนโยบายวันหยุด และมาตรการของภาครัฐรวมถึงสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 31.8% ยังไม่มีแผนท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 1-3 เดือนนี้ เพราะต้องการให้แน่ใจว่าสถานการณ์โควิดยุติแล้วจึงค่อยวางแผนเดินทาง และส่วนหนึ่งมีแผนเดินทางหลัง 1-3 เดือนนี้ ซึ่งอาจเป็นไตรมาสสุดท้ายของปี ส่วนที่เหลืออีกราว 8.2% มองว่าจะรอเดินทางท่องเที่ยวปีหน้า

มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว

แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวอันดับ 1 โดยจังหวัดยอดนิยมทางทะเล 5 อันดับแรก ได้แก่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต กระบี่ และ
เพชรบุรี ส่วนจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวรองลงมา คือ แหล่งท่องเที่ยวทางภูเขา/น้ำตก เช่น เชียงใหม่ เชียงราย น่าน นครราชสีมา และการไปไหว้พระทำบุญ เช่น พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี

นอกจากนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกที่จะเดินทางโดยการขับรถส่วนตัว เนื่องจากสะดวก ปลอดภัย และมีการเดินทางเป็นครอบครัว รองลงมา คือ การเดินทางโดยเครื่องบิน รถทัวร์ รถตู้ รถไฟ และการเช่ารถ

จากผลสำรวจสะท้อนว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย คนไทยเริ่มวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประกอบกับรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ในประเทศในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. 2563 นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาดการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และหากไทย
สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ไม่ให้กลับมาระบาดในประเทศเป็นรอบที่ 2 บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ จะค่อยๆ กลับมาฟื้นตัว

มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อทิศทางของตลาดไทยเที่ยวไทย โดยเฉพาะประเด็นด้านกำลังซื้อของผู้บริโภค บางกลุ่มที่ยังอ่อนแอ ขณะที่ความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยังไม่สามารถพลิกกลับมาเป็นบวก มองไปข้างหน้า ธุรกิจยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายประการ โดยการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทย อย่างค่อยเป็นค่อยไปในกรอบที่จำกัด

ส่งผลทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรง โดยเฉพาะแรงกดดันต่อการกำหนดทิศทางของราคา ขณะเดียวกันการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ภายใต้สภาวะ New Normal ยังเต็มไปด้วยข้อจำกัด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ และต้นทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว

ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำการตลาด โดยใช้จังหวะที่ภาครัฐออก มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว อาทิ จัดแพคเกจท่องเที่ยวพิเศษ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์จากมาตรการฯ และการจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลับมาใช้บริการอีกครั้ง โดยมีการนำเสนอแพคเกจราคาพิเศษ ให้กับผู้ที่มาใช้บริการในครั้งต่อไป เป็นต้น นอกจากนี้ คงต้องติดตามรายละเอียดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมภายใต้วงเงิน 4 แสนล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo