Economics

เล็งเปลี่ยนตอม่อร้าง ‘เกษตร-นวมินทร์’ เป็นทางด่วน-รถไฟฟ้า

S 65896531

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงการศึกษา การใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ บนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร – นวมินทร์) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดว่า ผลการศึกษามีข้อสรุปว่า ตอม่อดังกล่าวควรถูกพัฒนาเป็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-บึงกุ่ม และทางด่วนบนแนวเส้นทางเดียวกัน โดยคาดว่าระบบทางด่วนจะเปิดใช้บริการได้ก่อนในปี 2567 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะเปิดใช้บริการได้ในปี 2568

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) จะเริ่มต้นจากแยกแคราย ไปสิ้นสุดที่จุดตัดถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง รวมระยะทางราว 22.3 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี โดยรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จะทำหน้าที่เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า 7 สาย พร้อมมีการก่อสร้างอาคารจอดแล้วจรที่แยกบางกะปิ เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน

S 65896536

ส่วนระบบทางด่วน จะเป็นการต่อขยายแนวทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก เชื่อมต่อทางยกระดับอุตราภิมุข – ทางพิเศษศรีรัช – ถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตกที่ต่างระดับรัชวิภา โดยแนวโครงการจะมีเริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออกมาตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแนวคลองบางบัว คลองบางเขน แล้วเลียบขนานไปตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต จนถึงทางแยกต่างระดับรัชวิภา รวมระยะทางประมาณ 17.2 กิโลเมตร

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการลักษณะนี้จะสามารถรองรับการเดินทางได้ดีที่สุดและให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจในอัตราที่สูงมาก โดยรถไฟฟ้าจะให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ 22.3% และสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนทางรางของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และประหยัดเวลาการเดินทางของประชาชน

S 65896538

ในขณะที่ทางด่วนให้ผลตอบแทน 38.9% และจะเชื่อมโยงโครงข่ายการจราจรระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหาการจราจรบริเวณถนนงามวงศ์วานและถนนประเสริฐมนูกิจ รวมทั้งเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ โดยจะดำเนินการก่อสร้างระบบทางด่วนควบคู่ไปกับการจัดทำฐานรากของระบบรถไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาการจัดการพื้นที่ก่อสร้างซึ่งจะเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง

Avatar photo