ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 61 จะขยายตัวที่ 4.5%YOY (ปรับขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 4.3%YOY) โดยในครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยที่ราว 4.2%YOY ซึ่งยังถือเป็นอัตราการเติบโตที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่ราว 2.8%YOY โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การเติบโตในครึ่งปีหลังจะชะลอลงบ้างจากปัจจัยฐานสูงและการชะลอตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ
“SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งหลังของปี 61 ไปจนถึงปีหน้า แต่อาจชะลอความร้อนแรงลง” ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุ
ในด้านการส่งออกสินค้า EIC มองว่าในภาพรวมจะยังขยายตัวได้ดีกว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแต่อาจเริ่มชะลอตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกตามการค้าโลกที่เริ่มเติบโตช้าลงจากช่วงก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของโลก (Global Manufacturing Purchasing Managers’ Index) ที่ยังบ่งชี้การขยายตัวแต่มีทิศทางชะลอลงตั้งแต่ช่วงต้นปี ทั้งนี้ ทิศทางการส่งออกในปีหน้าก็มีแนวโน้มจะขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นกัน โดยจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 62 ของคู่ค้าสำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน จะชะลอลงกว่าในปีนี้ นอกจากนี้ จากการประเมินขององค์การการค้าโลก หรือ WTO มูลค่าการค้าโลกในปี 62 ก็จะขยายตัวช้ากว่าในปี 61 เช่นกัน นอกจากนี้ ยังต้องจับตาผลกระทบของสงครามการค้าจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่บังคับใช้ไปแล้ว รวมถึงความเสี่ยงที่จะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาอีกเพิ่มเติมในระยะต่อไป
ในด้านการท่องเที่ยวจากต่างชาติ EIC มองว่าจะยังมีการเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน แต่ในช่วงครึ่งปีหลังอาจชะลอลงจากการลดลงในระยะสั้นของนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนจากกรณีอุบัติเหตุเรือล่มที่ภูเก็ตและปัจจัยฐานสูงในช่วงไตรมาสที่ 4 นอกจากนี้ การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวในปีหน้ายังอาจเริ่มเผชิญกับข้อจำกัดของกำลังการรองรับของสนามบินหลัก
ขณะที่รายได้ภาคครัวเรือนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแต่การเร่งการใช้จ่ายยังต้องใช้เวลา สัญญาณในด้านรายได้ของภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีแรกจากจำนวนผู้มีงานทำและค่าจ้างเฉลี่ยรายเดือนของลูกจ้างปรับเพิ่มสูงขึ้นที่ 0.3%YOY และ 2.1%YOY ตามลำดับ รวมไปถึงรายได้เกษตรกรที่เริ่มเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ราว 1.7%YOY(คำนวณจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าในไตรมาสที่ 2 การบริโภคสินค้าไม่คงทนซึ่งสะท้อนสัดส่วนการบริโภคที่ค่อนข้างสูงของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยถึงปานกลางยังคงเติบโตในระดับต่ำและชะลอตัวลง บ่งชี้ว่าการที่ครัวเรือนจะเพิ่มการใช้จ่ายน่าจะยังมีข้อจำกัดเพราะรายได้เพิ่งเริ่มฟื้นตัวและไม่ได้เป็นการฟื้นตัวในอัตราที่สูงมากนัก ขณะเดียวกันครัวเรือนในกลุ่มนี้ก็ยังคงมีภาระหนี้ต่อรายได้ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนยังคงต้องพึ่งพาการใช้จ่ายของผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก