Economics

เล็งดัน ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม – สีม่วง’ เข้า ‘PPP Fast Track’

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
ภาพจาก www.fpo.go.th

“บอร์ด PPP” เล็งนำ รถไฟฟ้าสายสีส้ม – สีม่วง – วงแหวนกาญจนาฯ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม – ชะอำ เข้า “PPP Fast Track”

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจกรรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPPครั้งที่ 1/2561 ว่า คณะกรรมการ PPP เห็นชอบโครงการ 4 โครงการรวมมูลค่าโครงการ 22,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อแปลง A โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด มูลค่าโครงการประมาณ 15,400 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งพหลโยธิน เป็นศูนย์กลางการเดินทางและย่านธุรกิจแห่งใหม่ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชน

ส่วนโครงการที่ 2-3 เป็นโครงการขนาดกลาง ประกอบด้วย โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการขนาดกลางที่มีมูลค่าวงเงินตั้งแต่ 1,000-5,000 ล้านบาท 3 โครงการ รวมมูลค่าโครงการ 7,383 ล้านบาท คือ

1.โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก มูลค่าโครงการ 2,700 ล้านบาท ดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พระราชบัญญัติร่วมลงทุนฯ)

2.ให้โครงการพัฒนาที่ดินคลังพัสดุคลองเตย ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มูลค่าโครงการ 3,147 ล้านบาท ดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พ.ศ. 2559 (ประกาศคณะกรรมการ PPP สำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท)

3. ให้โครงการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชบ. 350 (บริเวณสนามกอล์ฟบางพระ) ของกรมธนารักษ์ มูลค่าโครงการ 1,536 ล้านบาท ดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการ PPP สำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ยังเห็นชอบเพิ่มเติมโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมาเข้ามาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 32,600 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการกระจายการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไปสู่ภูมิภาคและแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่นของเมืองหลัก โดยขอให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดติดตามการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ให้เป็นไปตามกำหนดเวลา ซึ่งทำให้โครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ทั้งหมด 12 โครงการ มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นรวม 966,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี 2561 คาดว่าจะมีโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track นำเสนอคณะกรรมการ PPP จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 406,874 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตกและตะวันออก 195,642 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก 131,172 ล้านบาท และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม – ชะอำ 80,060 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ PPP เห็นชอบในหลักการของหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบต้นทุน ความเสี่ยง และความคุ้มค่าในการประเมินทางเลือกการลงทุน (Value For Money: VFM) ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติ ร่วมลงทุนฯ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้ในการประเมินความคุ้มค่า และตัดสินใจระหว่าง การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐกับภาครัฐดำเนินโครงการเองโดยการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินหรืองบประมาณของหน่วยงานของรัฐทั้งหมด

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK