Economics

‘ดาว’ร่วมภาครัฐขับเคลื่อน ดาว เคมิคอล เพื่ออุตฯยั่งยืนสู่เฟส4

thumbnail รูปหมู่

การพัฒนาองค์กรสู่อุตสาหกรรมยั่งยืน รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม อาจถูกมองว่า เป็นการเพิ่มต้นทุนและทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี  แต่ความเข้าใจนี้ไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป เพราะการรักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถเพิ่มกำไร เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนได้เช่นกัน

การดำเนิน “ โครงการดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน” มีตัวเลขพิสูจน์เรื่องนี้ได้ชัดเจน โดย “ดาว” ในฐานะบริษัทด้านวัสดุศาสตร์ ได้เผยแพร่แนวคิดเรื่องระบบลีนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Lean Management for Environment) ให้กับองค์กรต่างๆ ภายใต้โครงการนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจและผู้ผ่านการอบรม นำแนวคิดเรื่องลีนไปช่วยลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน, เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน, เพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่และลดการใช้พลังงาน

การดำเนินโครงการรวม 3 ระยะ ในช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างบุคลากรอุตสาหกรรมที่เข้าใจและตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมไปแล้ว 5,844 ราย ผลิตที่ปรึกษาด้านลีนเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเพิ่มศักยภาพการผลิตและพัฒนามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยจนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้แล้วรวม 40 องค์กร

ผลในเชิงบวกที่เกิดขึ้น เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปริมาณ 1.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 150,000 ต้น ลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนด้านพลังงานได้ถึง 144 ล้านบาทต่อปี และช่วยให้ชุมชนโดยรอบมีความเป็นอยู่ที่ดีจากการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอีกกว่า 922,000 คน

โครงการดาว เคมิคอลฯ จะดำเนินการระยะที่ 4 ต่อในระหว่างปี 2561-2563 ซึ่งนอกจากเป้าหมายเดิมแล้ว โครงการยังจะเน้นหนักเรื่องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกพูดถึงกันทั่วโลกอย่าง เรื่องขยะพลาสติก

S 64782389

 

 ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ตั้งเป้าหมายว่า โครงการดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมที่ยั่งยืนระยะที่ 4 จะมีองค์กรต่างๆ เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 60-70 ราย จากเดิมที่มีอยู่ 40 ราย โดยเปิดให้เอสเอ็มอีและองค์กรจากอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าร่วมได้อย่างหลากหลาย แต่ปีนี้เน้นหนักเรื่องการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกมากขึ้น

เนื่องจากผู้คนทั่วโลกกำลังกังวลกับปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้น ดูได้จากกระแสบนโลกโซเชียล รวมถึงการรณรงค์ลดถุงหรือหลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ที่เริ่มนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง

ขณะเดียวกัน “ดาว” ก็มีความเชี่ยวชาญเรื่องพลาสติกเป็นพิเศษ  ก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  ดาว ได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ประกาศเจตนารมณ์ในการลดขยะพลาสติกในทะเลไทยไม่น้อยกว่า 50% ภายในปี 2570

“โครงการดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน” จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดขยะพลาสติกตามเจตนารมณ์ดังกล่าว เพราะระบบลีนสามารถลดขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่เหลือเลย รวมทั้งสามารถนำพลาสติกที่ใช้แล้ว กลับมาใช้ซ้ำได้อีกตามระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น นำพลาสติกไปผสมยางมะตอยเพื่อก่อสร้างถนน

นอกจากนี้ “โครงการดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน” จะต่อยอดให้เอสเอ็มอีเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของภาครัฐ เพื่อให้องค์กรธุรกิจสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนได้มากขึ้น

“สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติก ดาว มีความชำนาญอยู่แล้ว เช่น พลาสติกบางชนิดเดิมก็ไม่รู้ว่าจะนำไปทำอะไรต่อ ดาว สามารถแนะนำเอสเอ็มอีได้ว่า เราจะนำไปใช้หรือนำไปรีไซเคิล อะไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้เหลือเป็นขยะ”  ฉัตรชัย กล่าว

 ฉัตรชัย  กล่าวว่าดาว ยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน  ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรกในการปฏิบัติงานของ ดาว ทั่วโลก เรามีผู้เชี่ยวชาญ องค์ความรู้  พร้อมที่จะแบ่งปันช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs ไทย ยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย เพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ไปด้วยกัน

 

 

S 64782387 1

กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์  อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้ความเห็นว่า “โครงการ ดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน” เป็นตัวอย่างของความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรอิสระ ที่ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาขีดความสามารถของเอสเอ็มอีและอุตสาหกรรมไทยได้อย่างรอบด้าน

“โครงการนี้ยังสอดคล้องกับนโยบาย Big Brothers พี่ช่วยน้อง ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหญ่ ที่มีความพร้อมมาร่วมช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพและยกระดับมาตรฐานของเอสเอ็มอีไทยให้สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลก อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืนต่อไป” กอบชัย กล่าว

โครงการนี้ยังได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและสากล โดยในปี 2557 ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านความรับผิดชอบต่อสังคมแห่งภูมิภาคเอเชีย สาขาสิ่งแวดล้อม ( Asian CSR Awards) จาก The Asian Institute of Management – Ramon V. del Rosario, Sr. Center for Corporate Social Responsibility ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดำเนินการโดยสถาบันการบริหารแห่งเอเชีย ะในปี2560 ได้รับรางวัลชนะเลิศองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น สาขาการส่งเสริมไทยแลนด์ 4.0 จากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย  แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างมีนัยสำคัญ

Avatar photo