Economics

ดันไฮสปีดโคราช-หนองคาย เข้าครม.สิ้นปี

000 VI3KC

คณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน เตรียมจัดการประชุมร่วมครั้งที่ 25 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม 2561 เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่เริ่มก่อสร้างช่วง 3.5 กิโลเมตรแรกไปแล้ว

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมฯ จะติดตามเรื่องประมูลก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่เหลืออีกกว่า 200 กิโลเมตร

โดยหลังจากนี้ ฝ่ายไทยจะเปิดประมูลหาผู้รับเหมาเส้นทางช่วงที่ 2 สีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร มูลค่า 4 พันล้านบาท เบื้องต้นมีกำหนดจะนำเงื่อนไขการประมูล (TOR) ขึ้นรับฟังความเห็นบนเว็บไซต์ในเดือนสิงหาคม ถ้าไม่ติดปัญหาใดๆ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปลายเดือนสิงหาคม-กันยายน 2561  จากนั้นจะได้รายชื่อผู้รับเหมาในเดือนตุลาคม ส่วนการก่อสร้างที่เหลืออีก 13 สัญญา ก็จะทยอยเปิดประมูลหาผู้รับเหมาให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนผลการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย และฝ่ายจีนจะศึกษาเส้นทางช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ประเทศลาว ใช้เวลาประมาร 2 เดือน  กระทรวงคมนาคมคาดว่าจะสรุปผลการศึกษาตั้งแต่เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ไปจนถึงการเชื่อมต่อกับเมืองเวียงจันทน์ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาพร้อมกันในปลายปีนี้

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่นนั้น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร วงเงิน 2.76 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าจะเสนอให้ ครม. พิจารณาได้ในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2561

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังหารือกับผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) ว่า ญี่ปุ่นยืนยันว่าสนใจจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)  ตั้งแต่การร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

นอกจากนี้ ยังหารือเกี่ยวกับจัดทำแผนแม่บทโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศเมียนมา โดยญี่ปุ่นเห็นสอดคล้องกับไทยว่าควรปรับแผนใหม่ เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากกว่าอุตสาหกรรรมหนักที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง  ขณะนี้อยู่ระหว่างนัดประชุม 3 ฝ่าย ไทย พม่า และญี่ปุ่นเพื่อปรับแผนแม่บทต่อไป

Avatar photo