Economics

ดันระบบรางใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศ 100% ขร. เชื่อช่วยลดค่าโดยสาร ‘รถไฟฟ้า’

15 หน่วยงานลงนามความร่วมมือพัฒนา “อุตสาหกรรมระบบรางไทย” ขร. ตั้งเป้ากำหนดทีโออาร์ให้ใช้ชิ้นส่วนผลิตภายในประเทศ 100% ปี 67 เชื่อช่วยลดต้นทุน ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีสิทธิ์ถูกลง

รถไฟฟ้า

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (19 ก.พ.) ที่กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง (ขร.)  กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานต่างๆ รวม 15 แห่ง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จํากัด, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ฯลฯ ได้ร่วมกันลงนามใน “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง พันธมิตรระบบราง สร้างสรรค์อุตสาหกรรมระบบรางไทย” เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของไทยให้มีความยั่งยืน ด้วยการสนับสุนนให้มีการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนาบุคคลกร การวิจัยและพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมทั้งระบบ

นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะตัวแทนของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระหว่างปี 2560-2579 กระทรวงคมนาคมวางเป้าหมายที่จะมุ่งเน้นพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เข้มแข็ง  แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระบบรางของไทยยังมีน้อยรายและมีความสามารถในการแข่งขันในระดับตํ่า

รัฐบาลจึงต้องช่วยกันเร่งส่งเสริม โดยเฉพาะเพื่อให้ไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนระบบรางในประเทศได้เอง  เนื่องจากผลการศึกษาแผนพัฒนาอุตสาหกรรมรางระยะที่ 2 พบว่า การใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ(Local Content) ในสัดส่วน 40% สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศได้มากกว่า 7,000 ล้านบาท  ขณะที่การประกอบรถไฟขั้นสุดท้ายในประเทศส่งผลให้ซื้อรถไฟในราคาถูกลงมากกว่า 2,800 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานมากกว่า 2,000 ล้านบาท และยังช่วยลดภาระการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศได้ไม่น้อยกว่า1700 ล้านบาทต่อปี

fig 16 09 2019 05 26 41

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระบบรางแล้ว โดยจะมีการประชุมครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2563 เพื่อหารือเรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan)

สำหรับการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศนั้น ขร. ได้มีการจัดทำแผนไว้แล้วตามนโยบายThai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน ของนายศักดิ์สยาม โดยจะกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด ต้องมีการจัดซื้อบางชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ ซึ่งต้องมีการเขียนระบุไว้ในเงื่อนไขการประมูล (TOR) อย่างชัดเจน

เบื้องต้น ขร. ตั้งเป้าว่าภายในอีก 4 ปี หรือภายในปี 2566 นี้ ทุกหน่วยงานจะต้องจัดซื้อชิ้นส่วนระบบรางที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 40% ของมูลค่าการจัดซื้อ และในปี 2567 ต้องซื้อในประเทศทั้ง 100%

“เชื่อว่าหากเราสามารถใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศได้ จะช่วยประหยัดมูลค่าการนำเข้าจากต่างประเทศได้มากถึง 50% เพราะปัจจุบันมีชิ้นส่วนเพียง 3 รายการที่ผู้ประกอบการไทยยังผลิตเองไม่ได้คือ โบกี้รถไฟ เกียร์ และชุดเกียร์ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราว 50% ของมูลค่านำเข้า รวมทั้งยังช่วยให้เซฟงบซ่อมบำรุงไว้ในประเทศได้อีกปีละเกือบ 1 หมื่นล้านบาทด้วย เพราะถ้าไทยผลิตเองก็จะซ่อมในไทยได้  ทั้งนี้เชื่อว่าการลดการนำเข้า และลดภาระการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ จะทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมระบบรางในอนาคตถูกลง ซึ่งก็จะส่งผลทำให้อัตราค่าโดยสารถไฟหรือรถไฟฟ้า มีแนวโน้มปรับลดลงด้วย” นายสรพงศ์กล่าว

นายสรพงศ์กล่าวต่อว่า สำหรับชิ้นส่วน 3 รายการที่ประเทศไทยยังผลิตเองไม่ได้นั้น กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะพัฒนาความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อไป

Avatar photo