Economics

‘คลัง’ พร้อมอัดมาตรการดูแลเศรษฐกิจ สั่งจับตา ‘ไวรัสโควิด-19’

“กระทรวงการคลัง” ติดตามประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจใกล้ชิด พร้อมพิจารณามาตรการดูแลอย่างเหมาะสมต่อไป

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศอัตราการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทยไตรมาส 4 ปี 2562 ขยายตัว 1.6% และเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2562 ขยายตัว 2.4% ต่อปี ขยายตัวชะลอลงจากปี 2561 ที่ขยายตัว 4.2% ต่อปี โดยสาเหตุหลักของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ขยายตัวชะลอลงมาจาก มูลค่าการส่งออกสินค้าที่หดตัว 4.9% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ทรงตัว 0.0% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนและสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

86696694 1304706723067974 899956288878804992 o

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2563 ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงรายได้ของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

กระทรวงการคลังจึงดำเนินการมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวปี 2563 โดยจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวผ่านสถาบันการเงินของรัฐ แบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบกิจการโรงแรมสามารถหักรายจ่ายสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายในการปรับปรุงกิจการโรงแรมเป็นจำนวน 1.5 เท่า ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยการให้หน่วยงานสามารถหักรายจ่ายสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายในจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศเป็นจำนวน 2 เท่า รวมถึงบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษี โดยการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปเป็นภายในเดือนมิถุนายน 2563

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ดำเนินมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนภายในประเทศปี 2563 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ ประกอบด้วยมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตสินค้าให้มีศักยภาพสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถก้าวผ่านสถานการณ์ดังกล่าวไปได้

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและมีความพร้อมที่จะดำเนินมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเศรษฐกิจไทยปัจจุบันมีพื้นฐานแข็งแกร่ง ไม่มีแรงกดดันด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งอัตราเงินเฟ้อต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และฐานะทางการคลังสะท้อนจากหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพียง 41.3% ถือว่ายังอยู่ในระดับที่เข้มแข็งมาก

Avatar photo