Economics

ยกระดับคุมเข้ม ‘โดรน’ สิ้นปีนี้ผู้ควบคุมต้องผ่านการฝึกอบรม สอบรับใบอนุญาต  

ยกระดับกฎหมายคุม “โดรน” ผู้ใช้งานต้องผ่านโรงเรียนฝึกอบรมและขอใบอนุญาตจาก กพท. สกรีนผู้ใช้ 1.6 หมื่นรายให้มีความปลอดภัย ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

Photos presscon 200116 0004

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท. หรือ CAAT) เปิดเผยในงานแถลงข่าวแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกและทิศทางการดำเนินงานของ กพท. ในปี 2563 วันนี้ (16 ม.ค.) ว่า ในปี 2563 กพท. จะเน้นการทำงานเชิงรุกใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การส่งเสริมและดูแลอากาศยานไร้คนขับ (Drone) และ 2. การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Emergency Medical Service: HEMS)

สำหรับประเด็นเรื่องโดรนนั้น กพท. จะปรับปรุงกฎหมายในการกำกับดูแลให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของโดรน เนื่องจากปัจจุบันมีประชาชนมาลงทะเบียนเป็นผู้ใช้โดรนกับ กพท. ถึง 1.6 หมื่นราย และมีการนำโดรนไปใช้ในกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ถ่ายภาพ โปรยสารเคมี รวมถึงมีการใช้โดรนละเมิดสิทธิส่วนบุคลจำนวนมาก

ในปีนี้ กพท. จึงจะปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยในระดับสากลมองว่า โดรนเปรียบเสมือนเครื่องบินประเภทหนึ่ง ผู้ควบคุมโดรนต้องผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันที่ได้รับการรับรองเหมือนการฝึกนักบิน จากนั้นผู้ใช้โดรนจึงสามารถขอรับใบอนุญาตควบคุมโดรนทั้งในเชิงพาณิชย์และสัทนาการจาก กพท. ได้ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงกลาโหมก็มีสถาบันฝึกอบรมการบังคับโดรนอยู่ 1 แห่ง

fig 16 01 2020 09 06 15

กฎใหม่เสร็จสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ กพท. จะควบคุมพื้นที่และความสูงในการบินโดรน รวมถึงการจัดจราจรทางอากาศสำหรับโดรนด้วย ขณะเดียวกันก็จะออกกฎหมายเพื่อควบคุมผู้ใช้โดรนในเชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 100 ราย เช่น การรับจ้างโปรยสารเคมี หรือรับจ้างถ่ายภาพ ให้ต้องมาขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการการค้าขายการเดินอากาศ (AOL) จาก กพท.  โดยปัจจุบันมีบริษัท สยามยามาฮ่า ซึ่งรับจ้างโปรยสารเคมีได้รับ AOL ประเภทโดรนเพียงรายเดียว

อย่างไรก็ตาม องค์กรที่มีการใช้โดรนเพื่อกิจการภายในจะถือว่าไม่เข้าข่ายเป็นเชิงพาณิชย์ เช่น กรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) บินเพื่อสำรวจสายส่ง หรือการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บินโดรนเพื่อการก่อสร้าง เป็นต้น

“คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จะออกกฎเกณฑ์ควบคุมโดรนและการบังคับใช้ได้ ซึ่งผู้ใช้โดรนทั้ง 1.6 หมื่นในปัจจุบัน ก็จะต้องมาอบรมและสอบใบอนุญาตใหม่ทั้งหมด จากเดิมแค่แจ้งลงทะเบียนเท่านั้น ซึ่งก็จะสกรีนให้เหลือแค่โดรนที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย” นายจุฬากล่าว

fig 16 01 2020 09 08 40

ตอบโจทย์สังคม

นายจุฬากล่าวถึงการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ว่า การส่งเสริมเฮลิคอปเตอร์ประเภทนี้เป็นการตอบโจทย์เชิงสังคม เพราะปัจจุบันมีประเทศไทยมีผู้ประสบอุบัติเหตุและเจ็บป่วยในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว

กพท. จึงต้องปรับปรุงกฎระเบียบหรือมาตรฐานในการดูแลเฮลิคอปเตอร์ฮุกเฉินให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เช่น ปัจจุบันเฮลิคอปเตอร์จะบินได้ในจุดที่อนุญาตเท่านั้น กพท. จึงจะแก้ไขกฎระเบียบเพื่อใช้เฮลิคอร์ปฉุกเฉินสามารถบินได้ไม่จำกัดพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บได้ทันท่วงที โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว รวมถึงออกมาตรฐานสำหรับผู้ขับเฮลิคอปเตอร์ประเภทนี้เพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้ กพท. ต้องการส่งเสริมให้มีการใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยและผู้ได้รับบาดเจ็บ และคาดว่าธุรกิจนี้มีแนวโน้มเติบโตที่ดีในอนาคต เพราะประชาชนหรือนักท่องเที่ยวก็สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยผ่านบริษัทประกันได้เช่นกัน

Avatar photo