Economics

‘ไฮสปีดสามสนามบิน’ ถกปมเห็นต่างเรื่อง ‘ทางโค้ง’ ก่อนนัดกลุ่ม CP ส่งแบบปลายเดือนนี้

“ไฮสปีดสามสนามบิน” ถกแก้ปัญหาเห็นต่างเรื่อง “ทางโค้ง” หวั่นปรับแบบแล้วต้องเวนคืนเพิ่ม ด้านคณะทำงานส่งมอบพื้นที่นัดประชุม 15 ม.ค. ถามความพร้อมก่อนถึงกำหนดต้องส่งแบบสิ้นเดือนนี้

S 91742322

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ปลายเดือนนี้ การรถไฟฯ และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่ม CP) จะสรุปแบบและปัญหาที่คาดว่าจะพบในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท โดยขณะนี้พบว่าการออกแบบมีปัญหา 4-5 จุด จึงต้องให้ผู้ออกแบบและวิศวกรหารือกัน เพื่อปรับแก้ไขให้แล้วเสร็จ

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรถไฟฯ ให้เวลากลุ่ม CP ออกแบบเป็นเวลา 3 เดือน นับจากวันลงนามสัญญญา ซึ่งก็จะครบกำหนดภายในเดือนนี้ โดยขณะนี้กลุ่ม CP ได้ส่งแบบมาให้พิจารณาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งแบบอย่างเป็นทางการ

สำหรับประเด็นเรื่องแบบที่การรถไฟฯ และกลุ่ม CP ยังต้องหารือเพิ่มเติม คือ บริเวณทางโค้งตามแนวเส้นทาง เนื่องจากกลุ่ม CP เห็นว่า ทางโค้งที่การรถไฟฯ ออกแบบไว้ไม่สามารถทำความเร็วได้ แต่การรถไฟฯ กลับมองว่า แม้รถจะทำความเร็วบริเวณจุดโค้งไม่ได้ แต่หากรถไฟสามารถวิ่งจากจุดเริ่มต้นถึงปลายทางได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ก็ไม่เป็นปัญหาใดๆ เพราะการทำความเร็วในเส้นทางแต่ละช่วงก็ไม่เท่ากันอยู่แล้ว และถ้ากลุ่ม CP ปรับแบบบริเวณจุดโค้งก็จะต้องเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งอาจจะทำให้โครงการต้องล่าช้าออกไปอีก การรถไฟฯ จึงขอให้ CP รับข้อสังเกตนี้ไปพิจารณา

โดยวันที่ 15 มกราคม 2563 จะมีการประชุมคณะทำงานส่งมอบพื้นที่ที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เพื่อหารือเรื่องแบบของกลุ่ม CP ว่ามีอุปสรรคอะไรบ้าง และจะสามารถส่งแบบให้การรถไฟฯ ได้ภายในเดือนนี้ตามไทม์ไลน์หรือไม่ รวมถึงหารือกับหน่วยงานต่างๆ เรื่องรื้อย้ายสาธารณูปโภคตามแนวเส้นทาง

fig 09 05 2019 10 21 39

เชื่อส่งพื้นที่ได้ใน 1 ปี

รายงานข่าวเปิดเผยถึงความคืบหน้าเรื่องการรื้อย้ายและเตรียมพื้นที่ก่อสร้างว่า ขณะนี้ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนใน 5 จังหวัด ประมาณ 850 ไร่ เพื่อเตรียมพื้นก่อสร้างแล้ว โดยการรถไฟฯ จะต้องเริ่มสำรวจพื้นที่เวนคืนภายใน 60 วัน หลังพระราชกฤษฎีกาประกาศใช้ หรือภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี

ด้านพื้นที่ที่มีผู้บุกรุกก็ได้ดำเนินการสำรวจแล้ว ส่วนพื้นที่ที่ต้องรื้อย้ายสาธารณูปโภค การรถไฟฯ ก็ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น โดยต้องรอแบบอย่างเป็นทางการจากกลุ่ม CP ก่อน จากนั้นแต่ละหน่วยงานจะไปดำเนินการรื้อย้ายสาธารณูปโภคของตนเอง โดยเชื่อว่าการเปิดพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดจะเรียบร้อยและเริ่มก่อสร้างได้ภายใน 1 ปี เพราะมีคณะทำงานส่งมอบพื้นที่ช่วยผลักดัน

S 72540201

รอท่าทีเรื่อง “แอร์พอร์ตลิงก์”

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า วันนี้ (10 ม.ค.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. และกลุ่ม CP มีนัดประชุมเป็นครั้งแรก เพื่อหารือเรื่องการส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้กลุ่ม CP บริหารตามสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูง

การหารือครั้งนี้จะเป็นประเด็นทางเทคนิคและการบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ทั้งหมด โดยกลุ่ม CP จะส่งผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอิตาลีเข้าร่วมหารือ ส่วนประเด็นเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูง หรือการตรวจสอบวิเคราะห์กิจการ (Due Diligence) เป็นเรื่องที่กลุ่ม CP จะต้องไปหารือกับการรถไฟฯ

สำหรับกรณีที่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ต้องการเสนอให้กลุ่ม CP เข้ามาบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เร็วกว่าสัญญา เพื่อให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. สามารถเปลี่ยนถ่ายไปบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อตลิ่งชัน ที่จะเปิดให้บริการในปี 2564 ได้อย่างเต็มตัวนั้น

นายสุเทพกล่าวว่า ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมและท่าทีของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งก็ต้องค่อยๆ หารือกัน เพราะจากนี้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. และกลุ่ม CP ก็ต้องหารือกันตลอดจนกว่าการเปลี่ยนถ่ายจะแล้วเสร็จ ขณะเดียวกันเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงก็เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า กลุ่ม CP จะต้องจ่ายค่าบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี จึงสามารถเข้ามาบริหารได้

Avatar photo