Economics

กรมชลฯ เตือน 4 เขื่อนหลักมีน้ำใช้ได้แค่ 23%

กรมชลประทาน ย้ำปีนี้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ อยู่ในเกณฑ์น้อย เหตุจากฝนตกต่ำกว่าค่าปกติในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา วอนทุกภาคส่วน ใช้น้ำอย่างประหยัด ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน (6 ม.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 46,618 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61%  ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 22,789 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 44% ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,922 ล้าน ลบ.ม. หรือ44% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,226 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 23% ของปริมาณน้ำใช้การได้

แผนการจัดสรรน้ำ

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 (ระหว่าง 1 พ.ย. 62-30 เม.ย. 63) เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทาน มีปริมาณน้ำจัดสรรจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 17,699 ล้าน ลบ.ม. (น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำจัดสรรรวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม. (น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,700 ล้าน ลบ.ม.) ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (27 ธ.ค. 62) มีการระบายน้ำตามแผนฯ ไปแล้วจำนวน 5,878 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 33% ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการระบายน้ำตามแผนฯไปแล้วจำนวน 1,812 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 45% ของแผนจัดสรรน้ำฯ

81909033 3705920589480954 3684059106391359488 o

ส่วนแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 6.85 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ 4.01 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืชเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านการเกษตร

กรมชลประทาน ดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเสถียรภาพและความมั่นคงด้านน้ำ เตรียมความพร้อมด้วยศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจสำนักเครื่องจักรกล แก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2562/2563 กรมชลประทาน เพื่อส่งเครื่องจักร-เครื่องมือ ไปประจำการที่ศูนย์ฯทั่วประเทศ โดยมีศูนย์ส่วนกลางอยู่ที่ จังหวัดนนทบุรี และอีก 7 ศูนย์สาขาในทุกภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี และ จังหวัดสงขลา กระจายส่งเครื่องจักร-เครื่องมือ จำนวน 4,316 หน่วย พร้อมทั้งสั่งให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

แล้ง11

ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผน อย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด หากประชาชนที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งหรือขาดแคลนน้ำ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากโครงการชลประทานในพื้นที่ได้

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight