Economics

ผลการศึกษาเลือก ‘ต.เจ๊ะบิลัง’ เหมาะสุดสร้าง ‘สนามบินสตูล’

ผลการศึกษาเลือก ต.เจ๊ะบิลังเหมาะสุดลงทุน สนามบินสตูลมูลค่า 3,000 ล้าน ทย. คาดส่งเรื่องให้ ครม. พิจารณาได้เดือน มี.ค. นี้ เปิดให้บริการเร็วสุดปี 72

fig 29 12 2019 06 15 53


รายงานข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างสนามบินสตูลว่า ทย. ได้จัดจ้างบริษัท แอมเพิล คอนซัลแทนท์ (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท ออมนิ โซลูชั่นส์ จำกัด ทำการศึกษาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างสนามบินสตูลจำนวน 6 ทางเลือก ได้แก่

  • ทางเลือกที่ 1  พื้นที่ตำบลละงู อำเภอละงู และตำบลสาคร อำเภอท่าแพ มีข้อดีคือเป็นพื้นที่ราบและไม่มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ใช้เวลาเดินทางสู่ตัวเมือง 45 นาที ตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือปากบารา ส่วนข้อเสียคือบางส่วนเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ บางส่วนเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งอยู่ในเขตอุทยานธรณีสตูล และต้องเวนคืนที่ดินบางส่วน
  • ทางเลือกที่ 2  พื้นที่ตำบลท่าเรือ และตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ ข้อดีคือเป็นพื้นที่ราบและไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ใช้เวลาเดินทางสู่ตัวเมืองสตูล 40 นาที ตั้งอยู่ระหว่างท่าเรือปากบาราและตัวเมืองสตูล ส่วนข้อเสียคือต้องเวนคืนที่ดินทั้งหมด
  • ทางเลือกที่ 3 พื้นที่ตำบลท่าเรือ, ตำบลแป-ระ, ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ และตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง ข้อดีคือเป็นพื้นที่ราบและไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ใช้เวลาเดินทางสู่ตัวเมืองสตูล 39 นาที ข้อเสียคือต้องเวนคืนที่ดินทั้งหมด ด้านทิศตะวันออกมีแนวยอดเขากีดขวางเขตปลอดภัยทางขึ้นลงบางส่วน 2 ยอด
  • ทางเลือกที่ 4 พื้นที่ตำบลเจ๊ะบิลัง อำเภอเมือง ข้อดีคือเป็นพื้นที่ราบและไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ใช้เวลาเดินทางสู่ตัวเมืองสตูล 31 นาที ข้อเสียคือต้องเวนคืนที่ดินทั้งหมด
  • ทางเลือกที่ 5 พื้นที่ตำบลคลองขุดและตำบลเกตรี อำเภอเมือง ข้อดีคือเป็นพื้นที่สนามบินเดิม พื้นที่บางส่วนเป็นที่ราชพัสดุ ใช้เวลาเดินทางสู่ตัวเมืองสตูล 13 นาที ข้อเสียคือตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม มีแนวสายไฟแรงสูงตัดผ่าน ด้านทิศเหนือมีแนวยอดเขากีดขวางเขตปลอดภัยทางขึ้นลงบางส่วน 6 ยอด
  • ทางเลือกที่ 6 พื้นที่ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ และตำบลควนโพธิ์ อำเภอเมือง ข้อดีคือเป็นพื้นที่ราบและไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พื้นที่บางส่วนเป็นที่ราชพัสดุ ใช้เวลาเดินทางสู่ตัวเมืองสตูล  32 นาที  ข้อเสียคือมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ 3 บ่อ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีแนวยอดเขากีดขวางเขตปลอดภัยทางขึ้นลงบางส่วน 5 ยอด

พื้นที่ที่เหมาะสมจะก่อสร้างสนามบินแล้วคุ้มค่าและเป็นไปได้มากที่สุดคือพื้นที่ ตำบลเจ๊ะบิลัง อำเภอเมือง เพราะเป็นพื้นที่ราบ น้ำท่วมไม่ถึง ห่างจากตัวเมืองสตูลแค่ 30 นาที ที่สำคัญเครื่องบินสามารถบนขึ้นและลงจอดได้โดยไม่ติดยอดเขา ซึ่งจากการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนในท้องที่ก็เห็นด้วยกับพื้นที่นี้ คาดว่าจะใช้พื้นที่ก่อสร้างซึ่งจะต้องเวนคืนที่ดินราว 3,500 ไร่ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างราว 3,000 ล้านบาท  ส่วนรูปแบบการลงทุน อยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะเสนอผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ให้กระทรวงคมนาคม เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ช่วงเดือนมีนาคม 2563 แหล่งข่าวกล่าว

fig 03 01 2020 03 00 35

รายงานข่าวแจ้งว่า แนวคิดในการก่อสร้างสนามบินสตูลเกิดจากนักธุรกิจ สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมในท้องถิ่น เรียกร้องให้มีการสร้างสนามบิน เนื่องจากมีความต้องการในการเดินทางโดยเครื่องบินจำนวนมาก จากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ

โดยหากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการศึกษาในครั้งนี้ ทย. ก็ต้องทำการศึกษาออกแบบและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 2-3 ปี และเปิดให้บริการสนามบินได้ในปี 2572 

ในปีแรกที่เปิดให้บริการ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการสนามบินสตูลจำนวน 5แสนคนต่อปี และภายใน20ปี ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านคนต่อปี ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่เกาะหลีเป๊ะ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก รวมทั้งล่าสุด ยังมีแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ คืออุทยานธรณีโลก ซึ่งจะเป็นอุทยานธรณีระดับโลกแห่งแรกในไทยที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศรับรองอีกด้วย

Avatar photo