Economics

ไม่ใช่ประชานิยม!! รวมมาตรการ ‘แจกแหลก’ รัฐบาล ‘ลุงตู่’

ไม่ใช่ประชานิยม!! รวมมาตรการ “แจกแหลก” รัฐบาล “ลุงตู่” เป๊ะปังแค่ไหนมาดู

แม้ที่ผ่านมาจะถูกเสียงครหาว่านโยบายส่วนใหญ่ของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะไม่ต่างจากนโยบายเดิมๆ ของรัฐบาลในอดีตจนได้รับฉายาว่า “อิเหนา เมาหมัด” รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่ต่างจาก “นโยบายประชานิยม” ของรัฐบาล “พี่น้องตระกูลชินวัตร” แต่ “บิ๊กตู่” ก็ยังปฏิเสธเสียงแข็งว่า “ไม่ใช่ประชานิยม” และไม่อยากให้เรียกนโยบายเหล่านี้ว่า “แจกแหลก” หรือ “หว่านเงิน”

ประยุทธ์แจกแหลก111

หลังจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ “บิ๊กตู่” เริ่มเดินเครื่องทำงานอย่างเป็นทางการ มือเศรษฐกิจคู่ใจอย่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

โดยในระยะแรกรัฐบาลจัดหนัก จัดเต็มในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ

  • มาตรการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 1
  • มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 
  • มาตรการบรรเทาค่าครองชีพสำหรับสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง 
  • มาตรการพักหนี้กองทุนหมู่บ้านของ ธ.ก.ส. 
  • มาตรการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 อาทิ

  • มาตรการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 2
  • มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ 
  • มาตรการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 3
  • มาตรการ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย
  • มาตรการวันธรรมดาราคาช็อกโลก

รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 100,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2562 อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการ “ชิมช้อปใช้” มีการคาดการณ์ว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท และสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.1-0.2%

ล่าสุดเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจในปีนี้เติบโตอย่างต่อเนื่องรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีอีกชุด โดยมี 3 ชุดมาตรการสำคัญ

ชิมช้อปใช้251062 e1575614824257

มาตรการชุดแรก ได้แก่ โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย โครงการแรก ได้แก่ โครงการที่เดินหน้ามาหลายครั้ง เหมือนโครงการเก่ามาปัดฝุ่นแล้วปัดฝุ่นอีก คือ การแจกเงินกองทุนหมู่บ้าน 71,742 แห่ง แห่งละไม่เกิน 200,000 บาทวงเงินรวม 14,348 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุน เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน โรงงานผลิตปุ๋ยประจำชุมชน การจัดทำแหล่งเก็บน้ำชุมชน เครื่องจักรสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินประชาชน สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร เพื่อเป็นค่าลงทุนในการดำเนินกิจการและเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยตามปกติของ ธ.ก.ส. ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ปิดท้ายด้วยโครงการพักชำระหนี้สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน 1 ปี หวังลดความเดือดร้อนให้กับประชาชนและช่วยทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

มาตรการถัดมาคือ มาตรการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งคงหนีไม่พ้นการแจกเงินในแบบที่ “รัฐบาลลุงตู่” ถนัด โดยมาตรการนี้มีการแจกเงินค่าเก็บเกี่ยวข้าวปีการผลิต 2562/2563 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งมี 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะจ่ายเงินช่วยเหลือจนถึง 30 กันยายน 2563 ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเป็นผู้ดำเนินการทดรองจ่ายให้ก่อน 28,000 หมื่นล้านบาท และรัฐบาลจะตั้งงบประมาณมาชดเชยในภายหลัง นอกจากนี้ ยังมีการเก็บตกแจกเงินชาวนาเพื่อการเพาะปลูกที่จ่ายไปก่อนหน้านี้อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท

ชาวนา ภาพฟรี
ภาพจาก Pixabay

หากพิจารณาโดยรวมแล้ว “มาตรการแจกเงินชาวนา” รอบนี้ใช้เงินงบประมาณรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีชุดสุดท้าย ได้แก่ มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ในโครงการ “บ้านดีมีดาวน์” โดยรัฐบาลจะช่วยผ่อนดาวน์ให้คนซื้อบ้านให้ 50,000 บาท จำนวน 100,000 ราย โดยให้ซื้อบ้านใหม่จากโครงการที่สร้างเสร็จแล้วแต่ยังขายไม่ออกอีก 2.8 แสนยูนิต ปลดล็อกไม่จำเป็นต้องซื้อบ้านหลังแรก จะซื้อบ้านหลังที่เท่าไรก็ได้ ขอให้ซื้อให้ไวได้รัฐแจกเงินทันที ใครมาก่อนได้ก่อนเต็มแล้วหมดเลย

สำหรับมาตรการนี้จะใช้เงินงบประมาณสูงถึง 5,000 ล้านบาท และคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดดูน่าจะเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างบ้านมาล้นตลาดเกินความต้องการ

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นชุดใหม่ทั้งหมด ใช้เงินงบประมาณรวมแล้วประมาณ 33,000 ล้านบาท รัฐบาลคาดว่าจะทำให้เงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 80,000 ล้านบาท แต่ไม่สามารถประเมินได้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีมากแค่ไหน

Avatar photo