Economics

ย้อนมอง 10 เรื่องเด่น ‘เมกะโปรเจ็ค’ ปี 2562

กำลังจะสิ้นสุดปี 2562 กันแล้ว The Bangkok Insight จึงขอหยิบยก 10 เรื่องเด่นในแวดวง “กระทรวงหูกวาง” และงาน เมกะโปรเจ็ค ว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมามีประเด็นอะไรที่น่าบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์บ้าง

c7e64f25a5aee99d24c139bf61b8a3e65 4620693218502607831 ๑๙๐๗๑๘ 0003
อธิรัฐ รัตนเศรษฐ์ รมช.คมนาคม (ซ้าย) ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม (กลาง) ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม (ขวา)

1.หูกวางผลัดใบ … จากมือ “อาคม” สู่มือ “ศักดิ์สยาม แซ่รื้อ”

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ผู้นั่งเป็นเจ้ากระทรวงหูกวางมา 5 ปี และมีผลงานโดดเด่นเรื่องการผลักดัน เมกะโปรเจ็ค ได้โบกมืออำลาไปในปี 2562 พร้อมกับรัฐบาล “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” โดยรัฐบาลเลือกตั้ง ได้ส่ง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จากพรรคภูมิใจไทยมารับช่วงต่อ

นับตั้งแต่ “เสี่ยโอ๋” เข้าทำงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายใน กระทรวงคมนาคม จนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจที่เคยชินกับนโยบายและการทำงานรูปแบบเดิมมา 5 ปี ต้องกลับตัวกันแบบ 360 องศา

ในด้านนโยบาย “ศักดิ์สยาม” ได้ส่งสัญญาณแรงระดับ 5G ให้ “บอร์ดรัฐวิสาหกิจ” ลาออกตามมารยาททางการเมือง, สั่งทบทวนแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.), ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษาการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) และขอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทบทวนวิธีการแบ่งสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม

นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการ โดย “ไว้ใจ” สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้เป็นหน่วยงานหลักที่เข้ามาช่วยดูแลงานพร้อมสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดต้องรายงานเรื่องต่างๆ ให้รับทราบ เช่น วาระการประชุมบอร์ด การเปลี่ยนตำแหน่งและเลื่อนเงินเดือนผู้บริหารระดับสูง รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างโคงการที่มีมูลค่ามากว่า 100 ล้านบาท

จนสื่อทำเนียบได้มอบฉายา “ศักดิ์สยาม แซ่รื้อ” ส่งท้ายในปี 2562 แต่เจ้าตัวก็สบายๆ ตอบว่า ถ้ารื้อแล้วดี..ก็ต้องทำ จบปิ๊ง!

IMG 20191213115436000000

2.ปิดจ็อบ! จ่ายค่าเวนคืน “มอเตอร์เวย์บางใหญ่ฯ” 1.2 หมื่นล้าน

“โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) บางใหญ่-กาญจนบุรี” ได้เริ่มก่อสร้างมาพักใหญ่ แต่มีความคืบหน้าเพียง 25% เพราะติดปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายค่าเวนคืน ที่สำคัญคือทำให้ประชาชนผู้ถูกเวนคืนที่ดินหลายพันคนเดือดร้อนหนัก เพราะไม่ได้รับเงินที่ควรจะได้มากว่า 2 ปี

ในที่สุด ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวง (ทล.) ก็สามารถขอขยายกรอบวงเงินค่าเวนคืนเพิ่มอีก 1.2 หมื่นล้านได้สำเร็จ พร้อมประกาศว่าจะจ่ายเงินให้ครบทั้งหมดภายในปี 2562 เร็วกว่าแผนเดิมที่ต้องรอถึงเดือนมีนาคม 2563

การแก้ไขปัญหานี้ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ “บิ๊กโอ๋” โดยนายกฯ ตู่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้เกียรติเป็นประธานมอบค่าเวนคืนแก่ประชาชนในจังหวัดนครปฐมด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เป็นอัน Happy กันทุกฝ่าย เหลืออยู่อย่างเดียว คือต้องเร่งมือก่อสร้างและเปิดใช้มอเตอร์เวย์ภายในปี 2566 ให้ได้ตามแผน

MOT 2562 12 23 รวค.เปิดเดินรถสายสีน้ำเงิน ณ สถานีท่

3.คนกรุงเฮ! เปิดวิ่ง “รถไฟฟ้า” ส่วนต่อขยาย 2 เส้นทาง

ปี 2562 เป็นปีที่คนกรุงตื่นเต้นกับการเปิด “รถไฟฟ้า (ส่วนต่อขยาย) 2 สายสำคัญ” เพราะต่างเป็นเส้นทางหลักที่หลายคนรอมานาน และหวังจะให้เป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทาง

ประเดิมสายแรก “รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) ช่วงหัวลำโพง-บางแค (หลักสอง) ซึ่งวิ่งไปในย่านกรุงเก่า เกาะรัตนโกสินทร์ และเชื่อมทะลุมายังฝั่งธนบุรี ได้เปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้วในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ตามมาด้วย “รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) ช่วงเตาปูน-ท่าพระ” ซึ่งได้เปิดทดลองวิ่งในช่วงปลายปีนี้ และจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 30 มีนาคม 2563 ซึ่งก็ทำให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินวิ่งเป็นตัว Q ครบลูป เชื่อมต่อกรุงเทพฯ ได้ทุกทิศทุกทาง

ฝั่ง BTS ก็ไม่น้อยหน้า “รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” ได้ทดลองเปิดให้บริการ 5 สถานีแรกในปีนี้ เริ่มจาก “สถานีห้าแยกลาดพร้าว” ในเดือนสิงหาคม ตามมาด้วยอีก 4 สถานีจาก “สถานีพหลโยธิน 24 ถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ช่วงต้นเดือนธันวาคม

แม้จะเปิดแค่ 5 สถานี แต่ก็นับได้ว่าเป็นการเปิดวิ่งครั้งสำคัญ เพราะใครๆ ก็รู้ดีว่าการจราจรบนถนนพหลโยธินในชั่วโมงแรงด่วน จากสถานี BTS หมอชิต ข้ามมาห้าแยกลาดพร้าว จนถึงมหาวิทยลัยเกษตรฯ มันสาหัสแค่ไหน!

เมกะโปรเจ็ค เมืองการบิน

4.“CP” งัดข้อ “ทหารเรือ” ปมพิพาท “สัมปทานเมืองการบิน”

“โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” เป็น 1 ใน 5 สุดยอด เมกะโปรเจ็ค ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีกองทัพเรือ (ทร.) เป็นเจ้าภาพในการเปิดประมูลหาผู้รับสัมปทาน

เดือนมีนาคม 2562 เอกชนระดับแนวหน้าของประเทศได้ตบเท้าเข้ายื่นข้อเสนอ เมกะโปรเจ็ค โครงการนี้จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ “กลุ่ม CP, กลุ่ม BTS และกลุ่ม Property Perfect” แต่การประมูลครั้งนี้กลับไม่ราบรื่นและบานปลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติตัดสิทธิ์กลุ่ม CP เพราะมายื่นข้อเสนอ 2 กล่องสุดท้ายช้าไป 9 นาที “ศึกแห่งศักดิ์ศรี” ที่มีผลประโยชน์มูลค่า 2.9 แสนล้านบาทเป็นเดิมพันจึงระเบิดขึ้น!

ในยกแรก กลุ่ม CP ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางว่า มติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลฯ ก็มีคำพิพากษาว่ามติดังกล่าวถูกต้องแล้ว ในยกที่ 2 กลุ่ม CP ไม่ยอมแพ้ ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดและคาดว่าจะมีคำพิพากษาออกมาในเร็วๆ นี้

ซึ่งสังคมต่างจับตาคำตัดสินที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะคำพิพากษาดังกล่าวจะกลายเป็นบรรทัดฐานสำคัญสำหรับการประมูลโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ…ในอนาคต

night flight 2307018 640

5.”อุตสาหกรรมการบิน” เจอมรสุม ออกอาการตั้งแต่สนามบินยันแอร์ไลน์

ปัจจัยลบที่รุมเร้าและสภาพการแข่งขันที่รุนแรง ส่งผลให้ “สายการบิน” ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีกำไรลดลงติดต่อกันหลายปี แต่ปีนี้คือของจริง! เพราะสายการบินหลักที่เคยมีกำไรก็กลับพลิกขาดทุน ส่วนสายการบินที่ขาดทุนอยู่แล้ว ก็ยิ่งขาดทุนหนัก ด้านสายการบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) รายเล็กๆ ก็ยื่นหนังสือขอหยุดบินชั่วคราว

“สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)” จึงต้องออกโรง แสดงบทบาทผู้กำกับดูแล เรียกสายการบินที่มีปัญหาหลายรายเข้ามาพูดคุย เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลาม ถึงขั้นมีสายการบินล้มละลายหรือหยุดบินกะทะหัน จนกระทบผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วล่วงหน้า

ด้าน “บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.” ผู้บริหารสนามบินใหญ่ 6 แห่ง ที่ประกาศว่าอาจจะเห็นผลประกอบการ New High เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ก็ต้องผิดหวัง เพราะตัวเลขผู้โดยสารภายในประเทศที่ลดลง ส่งผลให้รายได้ของ ทอท. ลดลงตามไปด้วย และต้องใช้วิธีตัดค่าใช้จ่ายมาช่วยพยุงผลประกอบการให้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

สำหรับปีหน้า อุตสาหกรรมการบินก็ยังไม่เห็นปัจจัยบวกใหม่ๆ แต่ยังเห็นปัจจัยลบอย่างชัดเจน จึงติดตามต่อว่า ผู้ประกอบการจะใช้กลยุทธ์ไหนให้อยู่รอดปลอดภัยในวันที่ฟ้าไม่เป็นใจ …

เมกะโปรเจ็ค ไฮสปีด

6.ในที่สุดก็ได้ลงนาม “ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน”

รอคอยเธอมานานแสนนาน … สำหรับ “โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” เพราะการเจรจาระหว่างการรถไฟฯ และกลุ่ม CP ผู้ชนะการประมูลช่างยืดเยื้อเสียเหลือเกิน

2 ตัวท็อปจากพรรคภูมิใจไทย รองนายกฯ “อนุทิน ชาญวีรกูล” และ “ศักดิ์สยาม” จึงต้องใช้ไม้แข็ง ทั้งทุบ ทั้งขู่ จนปิดจ็อบลงนามสัญญาได้สำเร็จเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 โดยกลุ่ม CP ยอมรับผลการเจรจาและเซ็นต์สัญญารับสัมปทานนาน 50 ปี มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท

แม้บรรยากาศวันลงนามสัญญาจะเป็นไปอย่างชื่นมื่น แต่การทำงานบิ๊กโปรเจ็คครั้งนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น เพราะหลังเซ็นต์สัญญาแล้ว ก็ต้องใช้เวลาออกแบบเบื้องต้นอีก 3 เดือน และเคลียร์พื้นที่อย่างน้อย 1 ปี จึงจะเห็นภาพการก่อสร้าง

รถไฟฟ้า บีทีเอส

7.“สังคม” วิจารณ์ยับปมค่ารถไฟฟ้าแพง “ศักดิ์สยาม” โดดสนอง

แม้จะมีเสียงบ่นพึมพำมานาน แต่ปีนี้เป็นปีที่เสียงวิจารณ์เรื่อง “ค่ารถไฟฟ้าแพง” ดังกระหึ่มในสังคมไทย อย่างไรตาม กระทรวงคมนาคมในยุค คสช. ดูเหมือนจะไม่ฟังเสียงนี้มากนัก แต่เมื่อ “ศักดิ์สยาม” โดดเข้ามารับตำแหน่งแล้ว ก็พร้อมจัดให้! ตามสไตล์คนการเมือง

“เสี่ยโอ๋” ได้เปิดแถลงนโยบาย 10 ด้านในฐานะเจ้ากระทรวงหูกวาง หนึ่งในนั้น คือการศึกษาแนวทางลดค่าโดยสารขนส่งมวลชนทั้งระบบ รถเมล์ต้องใช้ตั๋วร่วม ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าผ่านทางพิเศษ (ทางด่วน) มอเตอร์เวย์ และดอนเมืองโทลล์เวย์ต้องลดลง โดยขณะนี้เริ่มเห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรม 2 เรื่อง คือ การลดค่า “ทางด่วน” ให้ผู้ถือบัตร Easy Pass ในอัตรา 5% เป็นเวลา 1 เดือน และการลดค่าโดยสาร “รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง” เหลือ 20 บาทตลอดสายเป็นเวลา 3 เดือน

แต่ที่ออกจะน่าผิดหวังคือ การผลักดัน “ตั๋วร่วม” ซึ่งเป็นความหวังในการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้รถไฟฟ้าและนำมาสู่การลดอัตราค่าโดยสารอย่างถาวรในอนาคต กลับยังไม่ไปถึงไหน เปรียบเทียบกับบัตรแรบบิทของรถไฟฟ้า BTS ที่คุยฟุ้งว่ามีผู้ถือบัตรทั้งหมด 13 ล้านใบ สามารถเชื่อมขนส่งมวลชนล้อ-ราง-เรือได้ 10 เส้นทางใน 6 จังหวัด

fig 27 09 2019 06 46 25

8.วงการรับเหมาสะเทือน “บริษัทจีน” ชนะประมูล เมกะโปรเจ็ค ก่อสร้างถี่

บริษัทจีนเข้ามาแทรกซึมเข้าในวงการรับเหมาไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการประมูลงานโยธา “โครงการก่อสร้างทางด่วน สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก” ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร วงเงินรวม 2.9 หมื่นล้านบาท ฉายภาพนี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจน

เพราะงานนี้ “4 เสือรับเหมาของไทย” ต่างยื่นข้อเสนอร่วมแข่งขันด้วย แต่ผลปรากฎว่า บริษัทจีนที่จับมือกับผู้รับเหมาไทยรายกลางยื่นราคาต่ำสุด กวาดงานไปได้ถึง 3 ใน 4 ของสัญญาทั้งหมด สร้างคำถามว่า แล้วรับเหมาไทยยังต่อสู้ในประเทศตัวเองไหวไหม?

ด้านกระทรวงคมนาคม แม้ “ศักดิ์สยาม” จะเคยเอ่ยปากถึงนโยบาย “Thai First” แต่ก็ยังไม่เห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรม จึงต้องจับตาว่าในปีต่อๆ ไป ซึ่งจะมีการประมูล เมกะโปรเจ็ค อีกหลายโครงการ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม, รถไฟฟ้าสายสีแดง, มอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะลอ ฯลฯ ผู้รับเหมาสัญชาติไทยจะต้านทานพลังทุนและพลังเทคโนโลยีจากแดนมังกรได้มากน้อยแค่ไหน

fig 19 09 2019 07 09 53

9.นับหนึ่งตั้งไข่ “กรมรางฯ” ความหวังยกระดับขนส่งมวลชน

หลังกระทรวงคมนาคมพยายามผลักดันเรื่องนี้มานานหลายปี ในที่ “กรมการขนส่งทางราง” ก็ได้แจ้งเกิดอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน โดยมี “สราวุธ ทรงศิริวิไล” ย้ายจากผู้อำนวยการ สนข. มานั่งเป็นอธิบดีคนแรก

ในปี 2562 กรมรางฯ ไม่ได้วาดลวดลายอะไรมากนัก เพราะยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ ทั้งด้านกำลังพลและสำนักงาน แต่ก็เริ่มเห็นกรมรางฯ พยายามแสดงบทบาทในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การร่างกฎกระทรวงเรื่องมาตรฐานคนขับรถไฟฟ้า การร่วมพิจารณาแนวทางลดอัตราค่าโดยสาร หรือการลงตรวจพื้นที่ต่างๆ อย่างขะมักเขม้น

หวังว่าเมื่อ “พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …” ประกาศใช้และทำให้กรมรางฯ มีอำนาจเต็มใบ ก็จะทำให้มาตรฐานระบบรางของไทยดีขึ้น โดยเฉพาะการจัดการกับปัญหารถไฟฟ้าเสีย ซึ่งเคยถูกสังคมตั้งคำถามอย่างหนัก จนไปถึงการยกระดับให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางขึ้นในประเทศ

เมกะโปรเจ็ค สนามบิน

10.ทอท. ล้มแบบ “ดวงฤทธิ์” ตั้งหลักปั้น “โครงการเทอร์มินอล 2” ใหม่

เมื่อปี 2561 การประกวดออกแบบ “โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 (Terminal)” ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มี “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” เป็นผู้ชนะการประมูล ได้จุดฉนวนคำถามจากสังคมและทำให้เกิดกระแสต่อต้านโครงการจากสังคมบางส่วน จนเจ้าของโครงการอย่าง ทอท. ต้องมีมติให้เหยียบเบรกไว้ก่อน

ปีนี้ ทอท. ตั้งต้นนับ 1 ใหม่ เริ่มจากการรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง ตามมาด้วยการล้มผลประกวดแบบ “ดวงฤทธิ์” เนื่องจากต้องการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันอาคารให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในที่สุด “บอร์ด” ก็มั่นใจว่ารับฟังความคิดเห็นทุกคนอย่างรอบด้านแล้ว จึงไฟเขียวให้ ทอท. เดินหน้าโครงการอีกครั้งในชื่อ “โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion)” เพื่อล้างภาพเดิมๆ

หลังจากนี้จึงต้องรอการตัดสินใจจากรัฐบาลว่า จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อหรือไม่ ที่สำคัญคือการตัดสินใจต้องไม่ยืดเยื้อ เพราะทุกคนต่างลงความเห็นว่า ปัญหาความแออัดในสนามบินสุวรรณภูมิหนักข้อมากจริงๆ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo