Economics

เร่งโรงไฟฟ้าชุมชนเฟส 1 กระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้า 70,000 ล้าน พร้อมดึงทุกกลไกลดค่าครองชีพ

“สนธิรัตน์” เร่งเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนเฟสแรก 500 เมกะวัตต์ กระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้า 70,000 ล้านบาท พร้อมปั้น “พลังงานชุมชน” ลดค่าครองชีพครัวเรือน

วันนี้ ( 9 ธ.ค.) กระทรวงพลังงานได้เรียกประชุมหน่วยงานในสังกัด และพลังงานจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด สัมมนาการสื่อสารนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติ ปี พ.ศ.2563เพื่อนำ “นโยบายพลังงาน เพื่อทุกคน” ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าเป็นที่ทราบว่าเศรษฐกิจปีนี้ไม่ดี และปีหน้าก็ยิ่งแย่ จากเศรษฐกิจโลก ขณะที่กลไกของรัฐบาลทำงานยาก และมีข้อจำกัด

ARC 8574

ดังนั้นเราจะใช้กลไกพลังงานมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และลดค่าครองชีพให้ประชาชน ซึ่งทุกวันนี้แต่ละครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายอยู่ราว 21,346 บาทต่อเดือน เป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 2,279 บาทต่อเดือน

โครงการที่กำลังขับเคลื่อนจะมุ่งเน้น “พลังงาน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ขณะนี้กำลังเดินหน้า 2 โครงการหลัก คือ โรงไฟฟ้าชุมชน และพลังงานชุมชน

ในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ให้เอกชนลงทุนโรงไฟฟ้า มีชุมชนร่วมถือหุ้นบุริมสิทธิ์สัดส่วนไม่ต่ำกว่า 10% ใช้วัสดุทางการเกษตรในพื้่นที่มาเป็นเชื้อเพลิง ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ เฟสแรกในปีหน้าคาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดได้ราว 500 เมกะวัตต์จากเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ ลงทุนประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างดีในปีหน้า

ส่วน “โครงการพลังงานชุมชน” จะมุ่งเน้นให้ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เน้นพื้นที่บริเวณชายขอบ ชายแดน และปลายสายส่งไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ประมาณ 40 จังหวัด 622 หมู่บ้าน 53,687 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลายสายส่งที่เกิดปัญหาไฟตกดับบ่อยครั้งอีก 11 จังหวัด 52 หมู่บ้าน 60,599 ครัวเรือน ซึ่งต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

รวมไปถึงสร้าง “สถานีพลังงานชุมชน” ในพื้นที่ ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ นำพลังงานจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ และเชื้อเพลิงฟอสซิลมาบริหารจัดการ เช่น ที่ศูนย์กสิกรรมท่ามะขาม จังหวัดกาญจนบุรี โดยโมเดลพลังงานชุมชนนั้นจะใช้เงินสนับสนุนจากหลายช่องทาง ทั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และงบช่วยเหลือสังคม (ซีเอสอาร์) ของบริษัทเอกชนต่างๆ

91486

นอกจากนี้ต้องนำกลไกพลังงานมาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้า ให้ประเทศแข่งขันได้ เป้าหมายของการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี จึงต้องตอบโจทย์นี้ โดยต้องเทียบประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนว่าค่าไฟฟ้าเราเป็นอย่างไร ประเทศอื่นเป็นอย่างไร ดังนั้นแผนพีดีพี ต้องปรับให้คิดบนฐานของ Competitive Price

“ไม่ถูกที่เราไปตั้งโจทย์ด้วยการกำหนดค่าไฟฟ้าที่ 3.58 บาทต่อหน่วยตลอดแผนพีดีพี 20 ปี ขณะที่เวียดนามค่าไฟ 3.20 บาทต่อหน่วย จึงเห็นว่าเราไปโฟกัสผิด ต้องไปดูประเทศที่แข่งกับเรา มีค่าไฟที่เท่าไหร่ และ 20 ปีเขาเป็นเท่าไหร่ และถ้าเราสูงกว่าเขา ผู้ประกอบการไทยจะแข่งขันได้อย่างไร และอนาคตรูปแบบพลังงานจะเป็นไฟฟ้าเป็นหลักเป็นเราจะอยู่อย่างไร “

ทั้งนี้การทำให้ค่าไฟฟ้าเป็น Competitive Price ก็ต้องอยู่ที่โรงไฟฟ้าหลักเราใช้เชื้อเพลิงอะไรด้วย ซึ่งยอมรับว่าถ่านหิน มีต้นทุนถูกหน่วยละ 1 บาทเศษ ซึ่งประเทศอื่นนำเชื้อเพลิงนี้มาผสมผสานด้วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมของประเทศถูก แต่สำหรับถ่านหินในไทย เรายอมแพ้ไปก่อน ยอมรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นเรื่องดี แต่แพง จำเป็นต้องนำพลังงานหลักที่ราคาถูกมาเฉลี่ยต้นทุนด้วย

“ไม่ถูกต้องที่จะนำแผนที่ผิดพลาด หรือที่ทำลายความสามารถในการแข่งขัน ไปโยนไปไว้ที่ค่าไฟฟ้า หรือเอฟที ตนเองจึงไม่ยอมให้นโยบายอะไรก็ตามไปทำให้ค่าไฟเพิ่ม เพราะนโยบายที่ดีต้องไม่ไปกระทบประชาชน ไม่ว่านโยบายนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม ต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการบริหารงานของกระทรวงพลังงาน “

ARC 8121

ในส่วนของไฟฟ้านั้น อีกทิศทางที่กำลังคิดกันก็คือ จะทำอย่างไรให้ไฟฟ้าสำรองส่วนเกิน 30% ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไปทำให้ขนส่งสาธารณะถูกลง และบางส่วนขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าอาเซียน

ส่วนศูนย์กลางก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ได้ประกาศไปนั้น นายสนธิรัตน์ ย้ำว่า ก็ต้องตอบโจทย์ให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าถูกลง ด้วย พร้อมกับสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โดยใช้ที่ตั้งของประเทศไทย ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียนให้เป็น Land Link ทั้งไฟฟ้าและแอลเอ็นจี

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกัน คือการทำอย่างไร ให้เรามีพลังงานใช้อย่างมั่นคงในระยะยาว โดยเฉพาะแหล่งปิโตรเลียม เพราะทั้งแหล่งเอราวัณ และบงกช ในอ่าวไทย อีกไม่นานก็จะต้องหมดไป ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำ คือการหาพลังงานสำรองเพิ่ม ซึ่งพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่สำคัญให้ไทยพลังงานใช้ไปอีก 20 ปี ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่จะเริ่มมีการเจรจาในปี 2563

นายสนธิรัตน์ ย้ำตอนท้ายว่า กระทรวงพลังงานมีเครื่องมือที่ทรงพลัง แต่ไปให้เอกชน สร้างความมั่งคั่งทางธุรกิจ ไม่ไปถึงคนฐานราก ดังนั้นจึงต้องปรับให้ไปทั้งสองขา ต้องทำให้ทุกคน โดยเฉพาะประชาชนได้ประโยชน์ด้วย ดังนั้นนโยบายพลังงานนับจากนี้ประชาชนต้องได้ประโยชน์

“เรามีการผลิตไฟฟ้าโดยชุมชนมานาน ไปไหนก็มีเตาอั้งโล่ มีการนำเศษวัสดุ เช่น ไม้ไผ่มาทำเป็นพลังงาน เป็นไฟฟ้า เป็นก๊าซหุงต้ม แต่เป็นแค่ต้นแบบ หรือตัวโชว์ ไม่ถูกกระจายตัวออกไป ไม่เคยมีการศึกษา ตั้งแต่ต้นจนจบให้ประชาชนไม่ต้องซื้อก๊าซหุงต้มใช้ เป็นคำถามว่าเมื่อดีทำไมไม่ถูกนำไปใช้ ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้า รัฐกลับการันตีรับซื้อ 20 ปีในราคากำหนดตายตัว มีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอ ซึ่งตนทำธุรกิจมาทั้่งชีวิตยังไม่เคยเห็นธุรกิจไหน ได้รับการันตีอย่างนี้มาก่อน จึงไม่แปลกที่จะเห็นการวิ่งเต้นไปทั่วเพื่อเข้ามาทำธุรกิจนี้กัน บางทีผลิตแค่ 40-50 เมกะวัตต์ก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว และบางทีประมูลได้มาแล้ว ก็นำไปขายต่อ “

นอกจากนี้พลังงานยังเข้ามาช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรด้วย และเริ่มเห็นผลแล้ว จากการส่งเสริมการใช้ดีเซล บี 20 และกำหนดให้ดีเซลบี 10 เป็นน้ำมันเกรดมาตรฐานในปีหน้า ทำให้ปัจจุบันราคาปาล์มน้ำมันขยับขึ้นมาที่กก.ละ 4 บาทแล้ว และจะทำต่อไปในปีหน้าเรื่องเอทานอล เพื่อดึงราคามันสำปะหลังด้วย

และเพื่อให้พลังงานสามารถปรับตัวได้กับยุคของการเปลี่ยนแปลง ขณะนี้ได้ประสานงานกับดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นภาพรวมของประเทศต่อไป

 

Avatar photo