Economics

‘สุวิทย์’ เคาะ 4 แนวทางอีอีซีโมเดล ปั้นแรงงาน 4.75 แสนคน

ประชุม “อีอีซี โมเดล” นัดแรก เคาะ 4 แนวทางพัฒนาคนในพื้นที่ เร่งสร้างแรงงานกว่า 4.7 แสนคนช่วง 5 ปีข้างหน้า ใน 3 อุตสาหกรรมหลักที่ต้องการแรงงานทักษะมากสุด

suwit

วันนี้ (4 ธ.ค.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซีโมเดล ครั้งที่ 1/ 2562 โดยที่ประชุมได้พิจารณา และรับทราบความคืบหน้าใน 4 ขั้นตอนการดำเนินงานการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี-เอชดีซี) ในระยะเวลา 2 ปี

ความคืบหน้าในการพัฒนาบุคลากรใน อีอีซี ในระยะเวลา 2 ปี ตามหลักการ Demand Driven

การวิเคราะห์ และสรุปข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พบว่า ในช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2562-2566 มีความต้องการแรงงานทักษะสำคัญ จำนวน 475,793 อัตรา

3 อุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานทักษะมากสุด

  • ดิจิทัล 24% จำนวน 116,222 ตำแหน่ง
  • โลจิสติกส์ 23% จำนวน 109,910 ตำแหน่ง
  • อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 12% จำนวน 58,228 ตำแหน่ง

ข้อมูลดังกล่าว ยังเกิดจากการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันอย่างใกล้ชิด และเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรกของ 3 กระทรวง คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามนโยบาย Demand Driven เน้นการพัฒนาบุคลากรและการศึกษายุคใหม่ ทั้งกลุ่มการศึกษาพื้นฐาน ที่ปรับปรุงทักษะด้านภาษา และการศึกษาด้าน Coding,กลุ่ม STEM

ขณะที่ ระดับอาชีวะและอุดมศึกษา ปรับสู่ Demand Driven Education ที่มีการจัดการศึกษาในแบบ EEC Model Type A ภายใต้ 3 หลักการ คือ ลดการศึกษาแบบแก่งแย่ง แตกแยก สู่ความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ โดยกำหนดตามความถนัดของแต่ละราย ช่วยพัฒนาการศึกษาและบุคลากรให้มีมาตรฐานตามหลักสากล และร่วมทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายระหว่างภาครัฐกับเอกชนในสัดส่วน 50:50 และเอกชนบริจาคอุปกรณ์ชั้นสูง เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม

อีอีซี-เอชดีซี ยังตั้งเป้าหมายว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี ต้องปฏิรูปหลักสูตรของสถานศึกษาในพื้นที่ อีอีซีอย่างน้อย 80% ให้เป็นไปตามหลักสูตรตามแนวทาง อีอีซี โมเดล

S 167460989

แนวทางการสนับสนุนบัณฑิตอาสาเพื่อพัฒนาชุมชนในพื้นที่อีอีซี

เปิดรับสมัครคัดเลือกบัณฑิตระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 3 ปี จำนวน 120 คน เพื่อเข้าฝึกอบรม 2 เดือน จากนั้นเข้าทำงานใน 30 อำเภอ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยทำงานร่วมกับอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงกลไกต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ซึ่งบัณฑิตอาสารุ่นแรกคาดว่าจะมีประมาณ 30 คนจาก 3 จังหวัดใน อีอีซี เริ่มภายในเดือนมกราคม 2563

 การสอนภาษาอังกฤษเชิงเทคนิคด้วยระบบ CLIL เพื่อสร้างอาชีวะอินเตอร์

การดำเนินการในระยะแรก ระหว่างเดือนตุลาคม 2562-มีนาคม 2563 เป็นการพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษในสถาบันอาชีวศึกษาใน 10 สาขาวิชา ครอบคลุมสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐ 37 แห่ง ในภาคตะวันออก มีครูเข้าร่วมอบรม 400 คน เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้เรียนให้ทัดเทียมสากล สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในวิชาชีพของตนเองได้อย่างมั่นใจ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มในการทำงานที่มีรายได้สูงในอนาคต โดยใช้วิธีการ Content-Language Integrated Learning (CLIL) เทคนิคการเรียนรู้แบบบูรณาการภาษาอังกฤษให้เข้ากับเนื้อหาวิชาชีพในทุกวิชา

วิธีการนี้ถอดบทเรียนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี ที่นำเทคนิคนี้ไปใช้แล้วประสบความสำเร็จ ด้วยการสร้างความเข้าใจและปรับความคิดผู้บริหารให้เห็นถึงความจำเป็นของ CLIL การพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษของครูช่าง และปรับสภาพแวดล้อมด้านภาษาอังกฤษในสถานศึกษา

ระยะต่อไป จะเตรียมการจัดตั้งศูนย์การพัฒนาความรู้ด้านภาษาอังกฤษเชิงวิชาชีพ ในมหาวิทยาลัยบูรพา

S 167460991

พัฒนาบุคลากรในหลักสูตรระยะสั้นให้รู้เท่าทันและเชี่ยวชาญเทคโนโลยี

ให้เครือข่ายสถาบันการศึกษาในพื้นที่อีอีซี จัดหลักสูตรฝึกอบรมทักษะที่สำคัญ เพื่อตอบโจทย์การทำงานยุคใหม่ ทั้งด้าน อีคอมเมิร์ซ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และไมซ์ (MICE) โดยมีผู้ผ่านการอบรมแล้ว จำนวน 2,000 คน ในปี 2562

นอกจากนี้ เพื่อดำเนินการจัดอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร จำนวน 10,000 คน ภายใน 4 ปี ในอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยหลักสูตรระยะสั้นจำนวน 68 หลักสูตรอีอีซี-เอชดีซี ได้หารือบริษัทข้ามชาติชั้นนำระดับโลก ทั้งหัวเว่ย วีเอ็มแวร์ และไมโครซอฟท์เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการหารือกับออราเคิล ซิสโก และกูเกิล โดยบริษัทเหล่านี้จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้สอนชาวต่างชาติ และค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ

ขณะเดียวกันได้กำหนดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น (Reskills/Upskills) ซึ่งตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 120 หลักสูตร จำนวน 20,000 คน คิดเป็น 20% ของความต้องการกำลังคนในปี 2563 โดยได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย 200 ล้านบาท

Avatar photo