Economics

พร้อม! ปี 63 ไทยประกาศเป็น ‘ศูนย์กลางแอลเอ็นจีของภูมิภาค’

ปี 63 ไทยพร้อมประกาศเป็น “ศูนย์กลางแอลเอ็นจีของภูมิภาค” กบง.หนุน วางกรอบนโยบายรับ ชี้กระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 1.6 แสนล้านบาทใน10 ปี  เกิดการจ้างงาน 16,000 คนต่อปี 

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันนี้ ( 4 ธ.ค.)หารือถึงกรอบการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ของภูมิภาค (Regional LNG Hub) โดยจะเริ่มทดลองซื้อขายเชิงพาณิชย์ได้ภายในปีหน้า 2563 โดยมั่นใจว่าหากสำเร็จ จะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามากกว่า 1.6 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปีข้างหน้า และเพิ่มการจ้างแรงงาน 16,000 คนต่อปี

timeline 20190831 085222

โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นประธานประชุมกบง.ครั้งนี้ กล่าวว่า ศูนย์กลางการซื้อขายแอลเอ็นจีของภูมิภาค เกิดจากผลศึกษาที่ปตท.ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Regional LNG Hub พัฒนาให้เกิดเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจซื้อขายแอลเอ็นจีภายในภูมิภาค

เนื่องจากไทยมีศักยภาพเพียงพอ ทั้งด้านความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่อยู่ระดับสูงเฉลี่ยปี 2562 นำเข้าประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ศักยภาพด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่ตั้งอยู่ตำแหน่งเป็นศูนย์กลางของประเทศ ที่มีความต้องการแอลเอ็นจี ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย พม่า กัมพูชา เวียดนาม คิดเป็นประมาณ 60% ของการซื้อขายแอลเอ็นจี ในโลก และยังคงมีความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งมีความพร้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการให้บริการอย่างหลากหลาย อาทิ การขนถ่ายแอลเอ็นจีจากเรือ การให้บริการกักเก็บแอลเอ็นจีในถังกักเก็บ การแปรสภาพแอลเอ็นจีเป็นก๊าซธรรมชาติ ส่งผ่านลูกค้าในประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้แผนการดำเนินงาน เพื่อส่งเสริม และผลักดัน ให้เกิดการดำเนินธุรกิจ Regional LNG Hub คาดว่าจะเริ่มทดสอบกิจกรรม การให้บริการต่างๆ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เช่น ระบบบริการขนถ่ายแอลเอ็นจี (Reload System) ให้บริการเติมแอลเอ็นจีแก่เรือที่ใช้แอลเอ็นจีเป็นเชื้อเพลิงในการเดินเรือ (Bunkering) และทำการตลาด เพื่อสื่อสารให้กับผู้ค้าเข้ามาใช้บริการ

โดยช่วงไตรมาสที่ 2 – 3 ของปี 2563 จะเริ่มทดลองค้าขายแอลเอ็นจีเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันจะมีการทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค และระดับสากล คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบประมาณปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 เป็นต้นไป

แอลเอ็นจี 1

สำหรับผลที่ได้รับจากการพัฒนา Regional LNG Hub จะทำให้ประเทศไทย เพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการแอลเอ็นจี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม

ทั้งนี้ผลของการพัฒนาเป็นศูนย์กลางดังกล่าว จะเกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยโดยรวมประมาณ 165,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปี (ปี 2563-2573) และมีอัตราการจ้างงานเฉลี่ยในประเทศเพิ่มขึ้นเท่ากับ 16,000 คนต่อปี อีกทั้งยังช่วยลดภาระการส่งผ่านอัตราค่าบริการไปยังค่าไฟฟ้าด้วย

นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังรับทราบรายงานความก้าวหน้าของสัญญาซื้อขายก๊าซฯระหว่าง ปตท. และ กฟผ. (Global DCQ) ซึ่งเป็นสัญญา เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงก๊าซฯ และมีความยืดหยุ่นในการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซฯโดยเสรี ที่ไม่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ภายใต้แผนความต้องการใช้ก๊าซฯของประเทศ

โดยสัญญากำหนดปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยรายวัน (DCQ) ซึ่งจากการหารือร่วมกันระหว่าง ปตท. และ กฟผ.ยังไม่ได้ข้อสรุป ยังมีบางประเด็นต้องเจรจา เรื่องนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาภายใต้หลักการ ให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน และเป็นธรรมทุกฝ่าย ขณะเดียวกันจะไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ คาดว่าสามารถดำเนินการลงนามสัญญา Global DCQ ได้ภายในปีนี้

สำหรับขั้นตอนต่อไปจะเป็นกระบวนการพิจารณาจากคณะกรรมการ กฟผ. อัยการสูงสุด กบง. และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป

ARC 3822

นอกจากนี้ กบง. ยังได้รับทราบแนวทางการคำนวณราคาไบโอดีเซล (บี 100) เพื่อใช้ผสมเป็นดีเซลหมุนเร็ว โดยยังคงให้ใช้หลักเกณฑ์การกำหนดราคาไบโอดีเซล ที่มีอยู่ปัจจุบันไปก่อน และมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ติดตามผลการใช้ ดีเซล บี10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน และศึกษาผลกระทบต่างๆ ขณะเดียวกันให้เร่งศึกษาหลักเกณฑ์การคำนวณราคาไบโอดีเซลใหม่ที่เหมาะสม และนำมาเสนอ กบง. เพื่อประกอบการศึกษาผลทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคา บี100 ต่อไป

Avatar photo