Economics

‘ไพบูลย์’ ผิดหวังกองทุน ‘SSF’ หวั่นวัฒนธรรมการลงทุนสะดุด!!

“ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย” ผิดหวัง “คลัง” ออกกองทุน “SSF” ชี้เสียดายมากถ้าวัฒนธรรมการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นจะสะดุดลง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ผิดหวังที่กระทรวงการคลังไม่เห็นถึงความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น (long-term equity investment culture) แต่ชื่นชมที่ยังเห็นถึงความสำคัญของการออมระยะยาว ด้วยการขยายวงเงินลงทุนสูงสุดในกองทุนการออมระยะยาว ( SSF) และ RMF ให้ถึง 30% ของรายได้พึงประเมิน (จากเดิม 15%)

กลุ่มคนที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจัดตั้งกองทุน SSF และการปรับเงื่อนไขกองทุน RMF คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือคนที่รายได้ยังไม่สูงมากนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะวินัยการออมต้องเริ่มสร้างตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน

ไพบูลย์ นลินทรางกูร 4362
ภาพจาก TISCO Advisory

แต่ที่ไม่เห็นด้วย คือการที่กระทรวงการคลังเอาวงเงินลดหย่อนของกองทุนเพื่อการออมทุกประเภทมารวมกัน และกำหนดเพดานไว้ที่ 500,000 บาทเท่านั้น (จากเดิม 1 ล้านบาท) เพราะจะทำให้คนรายได้ปานกลางที่มีศักยภาพในการออมสูง อาจเลือกที่จะออมน้อยลง และถ้ากลุ่มเป้าหมายหลักที่รัฐบาลต้องการให้ออมมากๆ เลือกที่จะไม่ออมเต็มที่ ก็จะทำให้เงินออมรวมของทั้งระบบไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควรการที่ไม่บังคับให้กองทุน SSF ต้องลงทุนในหุ้นเลย (ผิดกับ LTF ที่บังคับให้ลงทุนส่วนใหญ่ในหุ้น) ไม่น่าจะตอบโจทย์สังคมสูงวัย ที่ต้องทำให้ทุกคนมีรายได้พอใช้หลังเกษียณ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของภาครัฐ เพราะต้องยอมรับว่าคนไทยยังมีความรู้เรื่องการลงทุนน้อย และมีแนวโน้มที่คนส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนในกองทุน SSF ประเภทเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการออมก็จะต่ำตามไปด้วย ซึ่งอาจทำให้รายได้หลังเกษียณไม่เพียงพอ

และจะเป็นที่น่าเสียดายมาก ถ้าวัฒนธรรมการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น ที่มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ (นับตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุน LTF) เริ่มสะดุดลง เพราะขาดแรงจูงใจ และนักลงทุนหันกลับไปลงทุนระยะสั้นๆ แบบวันต่อวันกันมากขึ้น เสถียรภาพของระบบการเงินก็จะลดลง

คงต้องติดตามกันต่อไป ว่ากองทุน SSF จะสามารถดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน

Avatar photo