Economics

การันตี!! 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดันเม็ดเงินหมุนเวียนเกือบ 8 หมื่นล้าน

“อุตตม” มั่นใจ 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี ดันเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 80,000 ล้านบาท หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตต่อเนื่องถึงปีหน้า

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ครม.อนุมัติ 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม” ในการประชุม ครม.วานนี้ (27 พ.ย.) กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการเพื่อกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจปลายปี 62 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยดูแลเศรษฐกิจไทยให้เกิดการหมุนเวียนภายในประเทศในช่วงที่เหลือ โดยแบ่งเป็น 3 มาตรการคือ

76751634 2730886113640635 2026321422283964416 o

1. โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ประจำปีงบประมาณ 63 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เกิดสภาพคล่องให้กับชุมชน โดยให้ชุมชนลงทุนในกิจกรรมที่จะเกิดประโยชน์ และเกิดการจ้างงาน ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่

  • โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระดับหมู่บ้าน โดยจัดสรรเงินให้แก่กองทุนหมู่บ้านฯ (กทบ.) ที่ได้รับการประเมินอยู่ในระดับ A B และ C จำนวน 71,742 แห่ง แห่งละไม่เกิน 200,000 บาท (กรอบระยะเวลาเบิกจ่ายไม่เกิน 6 เดือน) ผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ (สทบ.) ภายใต้วงเงินรวม 14,348.4 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กในชุมชน สนับสนุนผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน โรงงานผลิตปุ๋ยประจำชุมชน การจัดทำแหล่งเก็บน้ำชุมชน เครื่องจักรสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น หรือกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่ชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ในชุมชนให้ดีขึ้น
  • โครงการพักชำระหนี้สมาชิก กทบ.ตามความสมัครใจ โดย กทบ.จะพักชำระหนี้หรือลดภาระหนี้เงินกู้ กทบ.ให้กับสมาชิกที่มีความเดือดร้อนตามแนวทางที่ กทบ.กำหนด เพื่อให้สมาชิกได้ผ่อนคลายภาระการชำระหนี้ที่มี และเสริมสภาพคล่องโดยสามารถนำเงินส่วนหนึ่งมาประกอบอาชีพสร้างรายได้ รวมทั้งมาใช้จ่ายเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนและหนี้นอกระบบ ซึ่งกำหนดพักการชำระหนี้เงินต้น ระยะเวลา 1 ปี
  • โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ให้กับกทบ. สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร เป็นต้น เพื่อเป็นค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยตามปกติของ ธ.ก.ส. ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 – 30 พฤศจิกายน 2565

77009292 2730886056973974 5594999101306437632 o

2. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผ่านโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 62/63

มาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบซ้ำซ้อน ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าว เพิ่มขีดความสามารถและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตรจะได้รับเงินช่วยเหลือ ค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว เฉพาะเกษตรกรรายย่อยอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาทต่อครัวเรือน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมในโครงการโดยสนับสนุนต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 และขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้เกษตรกรจากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 – 30 เมษายน 2563 เนื่องจากมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 62 กับกรมส่งเสริมการเกษตรมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

77163997 2730886080307305 880248487843725312 o

3. มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการ “บ้านดีมีดาวน์”

มาตรการเพื่อลดภาระ และสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยภาครัฐสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back) จำนวน 50,000 บาท ต่อราย ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ผู้เข้าร่วมมาตรการต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี เป็นผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีอากรของกรมสรรพากร จำนวน 100,000 ราย และผ่านเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อบ้านจากธนาคารแล้วจึงจะได้รับสิทธิ์นี้ ซึ่งกำหนดระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 – 31 มีนาคม 2563 โดยมี ธอส.เป็นแกนหลัก ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นๆ

สำหรับทั้ง 3 มาตรการนี้ทาง สศค.ได้มีการประเมินแล้วว่าในระยะสั้น จะช่วยทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 80,000 ล้านบาท โดยมาจากส่วนของ 1.การพักชำระหนี้ของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ประมาณ 50,000 ล้านบาท จากเงินหมุนเวียนของกทบ.ในปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท

ส่วนที่ 2. ค่าเก็บเกี่ยวของเกษตรกรชาวนาที่มีทั้งหมด 4.5 ล้านราย จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 27,000 ล้านบาท

ส่วนที่ 3 ค่าเพาะปลูกซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติให้กับเกษตรกรไปแล้วส่วนหนึ่ง และมีส่วนที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมอีกประมาณ 2,600 ล้านบาท โดยรวมจึงทำให้การออกมาตรการในช่วงปลายปีนี้ จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจเกือบ 80,000 ล้านบาท

ผมหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปลายปีนี้ของรัฐบาลจะช่วยให้ภาคการจับจ่ายใช้สอยของพี่น้องประชาชน เกษตรกร และภาคแรงงานต่างๆมีความคึกคักยิ่งขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปลายปีนี้ให้ตรงตามเป้าหมายต่อเนื่องถึงต้นปี 2563

ขอบคุณครับ

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK