Economics

ออสเตรเลียคุมเข้มคุณภาพกุ้งแนะไทยทำตลาด B2C

thumbnail Shrimp

สมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลออสเตรเลีย (Seafood Importers Association of Australia Inc) แนะผู้ส่งออกกุ้งไทยให้นำกลยุทธ์การตลาดแบบ B2C (Business to Consumer) มาใช้เป็นช่องทางการสื่อสารกับผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลการผลิตและแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อการรับประทานและขยายช่องทางการตลาด

นายนอร์แมน แกร้นท์ ประธานกรรมการบริหาร สมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเล ออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐบาลออสเตรเลียมีการตรวจสอบคุณภาพของกุ้งนำเข้าอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันโรคต่างๆ เข้าสู่ประเทศโดยเฉพาะโรคจุดขาว (White Spot Syndrome Virus) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐยังได้ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อศึกษาวิจัยและตรวจสอบฟาร์มกุ้งในประเทศ มุ่งกำจัดโรคดังกล่าว

ออสเตรเลียประสบปัญหาโรคจุดขาวระบาดในฟาร์มกุ้งในรัฐควีนส์แลนด์ ทำให้ผลผลิตเสียหายจำนวนมาก กรมการเกษตรและประมง จึงต้องการออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อตรวจสอบและควบคุมการแพร่กระจายของโรคไปยังบริเวณใกล้เคียงทางตอนใต้ของรัฐ  โดยกำหนดเป็นแผนดำเนินการกำจัดโรคจุดขาวให้หมดไปภายใน 2 ปี

“ออสเตรเลีย ให้ความสำคัญกับปัญหาโรคกุ้ง โดยเฉพาะโรคจุดขาวที่เกิดจากเชื้อไวรัส  จำเป็นต้องป้องกันไม่ให้ผลผลิตในประเทศติดเชื้อโรคดังกล่าว” นายแกร้นท์ กล่าว

นายแกร้นท์ ระบุว่าจำนวนประชากรของออสเตรเลียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมี 23-24 ล้านคน ส่วนหนึ่งเป็นการเข้ามาของคนเอเซีย ทำให้ปริมาณการบริโภคกุ้งสูงขึ้น ปัจจุบันการบริโภคกุ้งในประเทศเฉลี่ยปีละ 100,000 ตัน ในจำนวนนี้ 50% เป็นการนำเข้า  ส่วนที่เหลือผลิตในประเทศส่วนใหญ่เป็นกุ้งที่จับจากทะเล 80-90% และกุ้งที่เลี้ยงจากฟาร์มอีกจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคในออสเตรเลียยังมีข้อมูลเกี่ยวกับกุ้งไทยน้อยมาก โดยเฉพาะระบบการทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง เนื่องจากผู้ส่งออกกุ้งไทยทำการค้าโดยตรงกับผู้นำเข้าอาหารทะเล ที่มีการเข้ามาตรวจฟาร์มในไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของสินค้าให้ผู้บริโภคได้รับรู้  ออสเตรเลียมีผู้นำเข้าอาหารทะเลประมาณ 200 ราย  แต่ละรายมีวิธีทำการตลาดที่แตกต่างกัน

ผู้ส่งออกไทยต้องหากลยุทธ์ในการเข้าถึงผู้บริโภคในออสเตรเลียโดยตรง โดยเฉพาะการใช้ช่องทางการตลาดแบบ B2C รวมถึงการเพิ่มรายละเอียดของฟาร์มและแหล่งที่มาของวัตถุดิบบนบรรจุภัณฑ์มากขึ้น

“ถ้าไม่ให้รายละเอียดของสินค้ากับผู้บริโภคอย่างถูกต้อง ผู้บริโภคก็จะหันไปหาเนื้อสัตว์ประเภทอื่น เช่น เนื้อแกะ หรือ ไก่ เพราะราคาถูกกว่า คนออสเตรเลียรู้จักอาหารทะเลดีว่ามันดีต่อชีวิต และมันทำให้พวกเขามีความสุข” นายแกร้นท์ กล่าว

thumbnail Thai Shrimp Farm

นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ฟาร์มเลี้ยงกุ้งของบริษัทเป็นฟาร์มระบบปิดแบบครบวงจร ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต ร่วมกับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ยังมีการตรวจสอบคุณภาพกุ้งเข้มงวดตามมาตรฐานสากล  เพื่อป้องกันเชื้อและโรคติดต่อต่างๆ

“บริษัทใช้ชุดตรวจสอบคุณภาพกุ้งซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับที่ใช้ในออสเตรเลีย ควบคู่ไปกับการตวจสอบคุณภาพกุ้งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าผลผลิตของบริษัทไม่มีโรคใดๆ ที่สำคัญไม่มีการตรวจพบโรคจุดขาวในฟาร์มของบริษัทฯ” นายเปรมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ไทยส่งออกกุ้งไปออสเตรเลียเฉลี่ยปีละ 5,000-6,000 ตัน ซึ่งเป็นกุ้งต้มทั้งตัวและกุ้งปรุงสำเร็จเป็นหลัก ซีพีเอฟ ยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบการเลี้ยงแบบ 3 สะอาด ประกอบด้วย บ่อสะอาด พันธุ์กุ้งสะอาดและน้ำสะอาด ทำให้แก้ปัญหาอาการกุ้งตายด่วน หรือ อีเอ็มเอส (Early Mortality Syndrome) ได้เป็นอย่างดี บริษัทได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตกรทั่วประเทศ เพื่อลดการแพ่รระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight