Economics

‘ประสาร’ มองศก.ไทยป่วยเรื้อรัง แนะเร่งพัฒนาอุตฯ ที่มีความถนัด

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาภายในงาน “45 ปี 14 ตุลา ครั้งที่ 2 ประชาธิปไตยกับความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย” ว่า  เศรษฐกิจไทย เป็นเหมือนกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง แม้หลายรัฐบาลจะพยายามให้ยาหลายขนานแต่ก็ยังไม่หายขาด

prasarn
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะไทยเผชิญกับปัญหาในหลายด้าน ซึ่งเรื่องที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจเห็นว่าต้องเร่งแก้ไข คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผลจากทิศทางการพัฒนาที่มุ่งไปที่ปริมาณ แต่ให้น้ำหนักการเติบโตน้อยไป ถือเป็นต้นตอความขัดแย้งของโลก รวมถึงในประเทศไทย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการปะทะกัน เพื่อแย่งทรัพยากรในทุกระดับ

การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำคือการกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นมากขึ้น ขณะที่ชุมชนควรเพิ่มความเข้มแข็ง เพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรและแรงงานไร้ทักษะ รวมถึงคนระดับฐานราก เพื่อให้สามารถยืนอยู่ได้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจที่ลดลง และการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ฐานกำลังคนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลดลง ทำให้ในอนาคตคนไทยจะจนตอนแก่เป็นภาระให้กับวัยทำงาน

แนวทางการแก้ไขปัญหาคือ จะต้องมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีพื้นฐาน และเก่งอยู่แล้ว เช่นเกษตรแปรรูป อาหาร ท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่โลกต้องการ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งยังต้องปรับนโยบายแรงงานจากสังคมเป็นด้านเศรษฐกิจ เพราะวัยแรงงานจะน้อยลงกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ

เขาบอกด้วยว่า ที่ผ่านมากลไกและบทบาทภาครัฐไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก ซึ่งกลไกและบทบาทภาครัฐมีความสำคัญ เพราะภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย กฏหมาย กฏเกณฑ์และกติกาต่างๆ

ดังนั้น ภาครัฐควรกระจายอำนาจมากขึ้น ตลอดจนคำนึงถึงประสิทธิภาพ และความยั่งยืน พร้อมปฏิรูปกฏหมายเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight