Economics

ปตท.ปักหลักองค์กรดิจิทัล ทำแผน 5 ปีรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ปตท.เสนอบอร์ดเคาะแผนลงทุนดิจิทัลพ.ย.นี้ เดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมเพิ่มสัดส่วนงบวิจัยและพัฒนารองรับ ปรับความคิดพนักงานรุ่นเก่า-ใหม่สู่คนดิจิทัล

132954
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี และวิศวกรรม บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานเปิดงาน Power of Digital Transformation ว่า ปตท.อยู่ระหว่างการทำแผนระยะ 5 ปี (2562-2566) เพื่อวางงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาองค์กร รองรับยุคเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ คาดว่าจะนำเข้าคณะกรรมการบริหารบริษัทปตท.ได้ในเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมนี้ ซึ่งปตท.จะดำเนินการไปพร้อมกับการปรับเพิ่มสัดส่วนงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่กำหนดไว้ 3 % ของกำไรสุทธิแต่ละปี

“ที่ผ่านมาการลงทุนนำดิจิทัลเข้ามาใช้ในองค์กรยังไม่มีแผนชัดเจน แต่เมื่อเราต้องปรับทิศทางองค์กรก็ต้องเลือกใช้อย่างรอบคอบ เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลมีทางให้เลือกมาก บางครั้งต้องทดลองใช้เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ” นายชาญศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ ปตท.จำเป็นต้องนำแนวคิดและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาองค์กร (Digital Transformation) ผ่าน Internet of Things (loT) ไปสู่องค์กรแห่งความก้าวหน้าด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

“ยุคนี้การบริหารงานต้องคล่องตัวและเร็ว ปตท.จึงต้องวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับดิจิทัล และผูกโยงกับผลิตภัณฑ์ ถือเป็นเรื่องสนุก เพราะเทคโนโลยีมีทางให้เลือกเยอะ ช่วยให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลงได้ ทำให้ลูกค้าพึงพอใจ และมีช่องทางที่ทำให้แข่งขันได้ดีขึ้น เพียงแต่ต้องปรับวิธีคิดของคนในองค์กรใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าต้องเปิดกว้างและพร้อมเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ หากไม่ปรับเปลี่ยน เราจะไปไม่รอด”

สำหรับการนำดิจิทัลมาใช้ในการทำงานขององค์กรในระยะแรกนั้น จะมุ่งเน้นการนำมาใช้เพื่อปรับวิธีการสื่อสารภายในองค์กรที่เป็นดิจิทัล ทำให้พนักงานทำงานได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ วัดผลได้อย่างชัดเจน ตอบโจทย์การทำงานของคนรุ่นใหม่ และทำให้พนักงานสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างเช่น Workplace by Facebook ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันในรูปแบบใหม่ ที่เชื่อมต่อพนักงานทุกคนในองค์กรผ่านการสนทนาด้วยเสียงและวีดิโอคอล สามารถสนทนาเป็นกลุ่ม และการฟีดข่าวถึงกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานขององค์กรให้มีความทันสมัย นำไปสู่วัฒนธรรมแห่งความเป็นดิจิทัล และสอดรับกับการแข่งขันในภาคธุรกิจในอนาคต

นายชาญศิลป์ ยังได้กล่าวถึงการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าโครงการประมาณ 200,000 ล้าน ว่าอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิงหหาคมนี้

โดยมี 3 ประเด็นที่ต้องพิจารณาหาข้อสรุป คือ จะลงทุนหรือไม่ ลงทุนกับพันธมิตรรายใด และลงทุนอย่างไร โดย มีบริษัทเอนเนอรี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด หรือเอนโก้ บริษัทในเครือเป็นแกนนำในการลงทุนร่วมกับพันธมิตร

132976

ในงาน Power of Digital Transformation ยังมีการเสวนาหัวข้อ “Journey to Digital Transformation” ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆให้มุมมองถึงโลกในยุคดิจิทัล

พันเอกดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า บริษัทที่จะอยู่รอดได้ในยุคดิจิทัลต้องมีความเชื่อว่า ดิจิทัลจะทำให้โลกเปลี่ยนภายในระยะเวลารวดเร็ว ยกตัวอย่างโกดักไม่เชื่อว่าคนจะเลิกใช้ฟิล์ม ก็นำไปสู่การล้มละลายภายในเวลาเพียง 5 ปี จากที่เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการสูง ขณะที่ฟูจิปรับตัวจึงอยู่รอดได้จนถึงตอนนี้

ในกรณีของพลังงานมองว่า คนจะใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงน้อยลงไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า และขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลอย่างแน่นอน แต่การย้ายฐานไปลงทุนใหม่นั้นต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย

ขณะที่ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าอนาคตองค์กรขนาดใหญ่ที่ไม่ปรับตัวจะค่อยหายไป เพราะองค์กรที่จะอยู่รอดได้ คือ องค์กรที่ปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีเท่านั้น

สำหรับกิจการธนาคารเอง มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลเป็นกิจการแรกๆ ทำให้ไทยพาณิชย์ต้องประกาศปิดสาขาจาก 1,153 แห่งเหลือ 400 แห่ง ลดพนักงานจาก 27,000 คนเหลือ 15,000 คนภายในปี 2563 เป็นบทพิสูจน์เส้นทางว่า จะต้องปรับไปสู่การนำดิจิทัลมาใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น

ความยากของการเปลี่ยนผ่านคือ กระบวนการตัดสินใจทางนโยบายของผู้บริหารระดับสูง และคนขององค์กร ซึ่งคนรุ่นเก่าจะต้องเปิดใจพร้อมกับการเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่มากขึ้น

Avatar photo