“สนข.” ศึกษาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รอบ “สถานีรถไฟพัทยา” มีโอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ย่านท่องเที่ยว แหล่งช้อปปิ้งระดับภูมิภาค แต่รัฐบาลต้องออกมาตรการหนุนให้ชัดเจน
นายเริงศักดิ์ ทองสม ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ในพื้นที่เมืองต้นแบบพัทยา จังหวัดชลบุรี ครั้งที่ 1 ตามโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง “TOD คมนาคม สร้างเมือง เมืองสร้างสุข สุขสร้างได้” เมื่อเวลา 9.00 น. วันนี้ (7 พ.ย.) น. ณ ห้องพิมาน บอลลูนชั้น 2 โรงแรมแกรนด์ พาลาสโซ่พัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรีว่า
เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นกลุ่มเมืองต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development : TOD) ด้านตะวันออก ด้วยความพร้อมด้วยศักยภาพการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ เป็นทำเลที่ดีที่สุดในการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ที่สำคัญเป็นประตูสู่อาเซียน โดยเฉพาะจีนและอินเดีย และมีเม็ดเงินลงทุนพัฒนาเมืองในพื้นที่ และการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านบาท และ 2 แสนล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของประเทศและภูมิภาคอาเซียนมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งพร้อมรับการแข่งขันจากต่างประเทศ ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการรถไฟฟ้ารางเบาเชื่อมรถไฟฟ้าความเร็วสูง และโครงการขยายสนามบินอู่ตะเภาเพื่อรองรับผู้โดยสารให้ได้ 3 ล้านคนต่อปี
นอกจากนั้นยังมีความพร้อมด้านธุรกิจบริการมาตรฐานสากลและแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกซึ่งติดอันดับ 18 เมืองจุดหมายปลายทางของโลกในปี 2561 จากปริมาณนักท่องเที่ยวทั้ง 14 ล้านคน และมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอีกมาก รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และธุรกิจบริการ มีความพร้อมทั้งด้านการแพทย์ การศึกษา และเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ
ดังนั้นการเลือกเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นเมืองพัฒนา TOD จะช่วยเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การกระจายความเจริญ การเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งจังหวัดในภูมิภาคตะวันออก และเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
นายเริงศักดิ์ กล่าวว่า ผลการศึกษาเบื้องต้นบริเวณรอบสถานีรถไฟเมืองพัทยาสามารถพัฒนาได้ 4 โซนหลัก คือ
โซน 1 ย่านอาคารสำนักงาน เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งติดสถานีรถไฟ พื้นที่นี้จึงเหมาะพัฒนาแบบผสมผสาน ทั้งอาคารสำนักงานระดับภูมิภาค ที่ทำการหน่วยงาน สถานศึกษา ร้านค้าปลีก รองรับทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประชาชน
โซนที่ 2 ศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การพาณิชย์ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งติดสถานีทำให้พื้นที่บริเวณนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ทั้งเป็น “ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค” รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงโรงแรมธุรกิจ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และบริการแบบครบวงจร
โซนที่ 3 มหานครแห่งอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE City) ด้วยศักยภาพและความพร้อมของเมืองพัทยาในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี และมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งรองรับพื้นที่นี้จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางด้านการประชุม จัดแสดง และสัมมนา โดยเป็นที่ตั้งของศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าระดับนานาชาติ โรงแรมที่สามารถจัดการประชุมขนาดใหญ่ได้ รวมถึงโรงแรมราคาประหยัดที่พร้อมรองรับทุกความต้องการ ดังนั้นเมืองพัทยาจึงมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเป็นมหานครแห่งอุตสาหกรรมไมซ์ได้
โซนที่ 4 ชุมชนที่อยู่อาศัย ด้วยความสะดวกสบายด้านการคมนาคม เพราะอยู่ใกล้จากสถานีทำให้พื้นที่แห่งนี้เหมาะที่จะพัฒนาเป็นย่านที่พักอาศัยที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งอาคารแนวราบ และอาคารแนวสูงราคาถูก ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี มีร้านค้าปลีกชุมชน และสวนสาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ครบถ้วนด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสันทนาการและมีความปลอดภัย เอื้อต่อการอยู่อาศัยและใช้ชีวิต
“ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ TOD เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี คือภาครัฐต้องกำหนดกรอบนโยบายการลงทุน รูปแบบการสนับสนุน และข้อกฎหมายที่สนับสนุนให้มีความชัดเจน การมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบ มีช่องทางในการสร้างรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ ตลอดจนทุกภาคส่วนมีเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านต่างๆ ของโครงการ และมีรูปแบบการลงทุนที่มีความเป็นธรรม และสอดคล้องกับลักษณะการพัฒนา TOD ในพื้นที่ และที่สำคัญคือต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย” นายเริงศักดิ์กล่าว