Economics

ปมเก็บค่าน้ำเตะถ่วงกม.ใหม่เพิ่มวิกฤติน้ำขั้นรุนแรง

20180701 130853

ตลอด 17 วันของการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือเด็กและโค้ช 13 คนของทีมฟุตบอล “หมูป่า อะคาเดมี่” ออกจากถ้ำหลวง จังหวัดเชียงรายจนประสบความสำเร็จท่ามกลางแรงกดดันมากมาย

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลไกการทำงานของศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย (ศอร.) ที่มีนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ

ถือเป็นปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จจากการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้มาทำงานด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพ ทำให้หลายคนเห็นถึงความจำเป็นในการจัดวางโครงสร้างการทำงานใหม่ เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะจากภัยธรรมชาติ อย่าง “น้ำ” ที่ไทยต้องประสบมาตลอดทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะรุนแรงขึ้น รวมถึงภัยพิบัติอื่นๆที่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในภาวะที่โลกเปลี่ยนแปลงไป

การบูรณาการหน่วยงาน และการรวมศูนย์สั่งการ เพื่อความเป็นเอกภาพในการทำงานจึงถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหา “น้ำ” และ ถูกบรรจุในร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ….. ซึ่งอยู่ในมือคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย

“พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ถูกล่มร่างไปถึง 9 ครั้งตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีหลายหน่วยงานและมีกฎหมายเกี่ยวข้องจำนวนมาก รวมแล้ว 42 หน่วยงาน 10 กรม 38 พระราชบัญญัติ แต่หลายคนที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ เพราะหากไหลไปถึงรัฐบาลเลือกตั้ง เชื่อว่าพ.ร.บ.นี้คงตกไปอีกเป็นรอบที่ 10 เพราะรัฐบาลเลือกตั้งจะไม่เสี่ยงที่จะทำอะไรกระทบฐานเสียง”

สนช.ย้ำพรบ.น้ำต้องเกิดขึ้นแก้วิกฤติ

แหล่งข่าวจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำพ.ศ….สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าว พร้อมระบุว่า พ.ร.บ.นี้ไม่เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว เพราะสถานการณ์หลายอย่างเริ่มบีบคั้นเข้ามา ทำให้จำเป็นต้องบูรณาการกฎหมาย และหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ “น้ำ” ให้เป็นหนึ่งเดียว รวมถึงจัดทัพโครงสร้างการบริหารใหม่ เพื่อให้การทำงานแต่ละหน่วยงานเป็นเอกภาพ พร้อมกับการตรากฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของประเทศ

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณสำรองน้ำต่ำมาก พบว่ามีน้ำบาดาล และน้ำผิวดิน 112,141 ล้านลบ.ม.ต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้น้ำภายในประเทศอยู่ที่ 151,750 ล้านลบ.ม.ต่อปี เท่ากับประเทศไทยมีปริมาณน้ำต่อคนต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 3,200 ลบ.ม. ตามข้อมูลขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กำหนดไว้ว่า หากมีปริมาณน้ำต่อคนต่อปีต่ำกว่า 5,000 ลบ.ม.ถือว่าขาดแคลน

“เมื่อปริมาณน้ำเท่าเดิมหรือน้อยลง แต่ประชากรเพิ่มขึ้น จึงเกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำ โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน 119 ล้านไร่ที่ทำเกษตรจากน้ำฝน”

นอกจากนี้ ในหลายๆ พื้นที่ผู้ใช้น้ำรายใหญ่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ สูบนำไปใช้ในจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่อยู่ปลายน้ำ ไม่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ เกิดความไม่เป็นธรรมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำรายอื่น พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ จึงต้องเกิดขึ้นเพื่อมาบริหารจัดการน้ำและจัดสรรน้ำอย่างเป็นธรรม

ชี้น้ำสถานการณ์อยู่ในระดับขาดแคลน

ศาสตราจารย์สุวัฒนา จิตตลดากร อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า สถานการณ์น้ำในปัจจุบันของไทย ถือว่าอยู่ในระดับขาดแคลน มีน้ำใช้ไปวันๆ เท่านั้น ขณะที่ต้องเผชิญกับวัฎจักรน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นประจำ และถี่ขึ้น ถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนั่งล้อมวงเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงด้านน้ำของประเทศอย่างจริงจัง

วาง 3 ประเภทจัดสรรการใช้น้ำ

แหล่งข่าว กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้วางลำดับของการจัดสรรน้ำไว้ 3 ประเภท ประเภทที่ 1 การใช้น้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์ยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย

ประเภทที่ 2 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่นๆ

ประเภทที่ 3 การใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะต้องมีการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดนิยามของผู้ใช้น้ำให้ชัดเจน และวางโครงสร้างค่าน้ำที่เหมาะสม ต้องผ่านการรับฟังความเห็นถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ให้กฎหมายระดับกฎกระทรวงต้องรับฟังความเห็น

“ผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 จะเป็นลำดับแรกที่จะถูกจัดสรรก่อน และไม่มีการเก็บค่าน้ำ ซึ่งเป็นการล้อตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 72 และ 75 ที่รัฐต้องดูแลผู้ใช้น้ำกลุ่มนี้เพื่อสร้างความธรรมลดความเหลื่อมล้ำ  กลุ่มนี้จะไม่มีผลกระทบจากพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพียงแต่ต้องนิยามให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการตีความภายหลัง” แหล่งข่าว กล่าว

กลุ่มผู้ใช้น้ำทั้ง 3 ประเภทที่ระบุไว้ตามกฎหมาย ต้องขึ้นทะเบียนการใช้น้ำตามจริง โดยจะมีการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการลุ่มน้ำ และสำนักงานทรัยพากรน้ำแห่งชาติ มาช่วยกำกับดูแลการจัดสรรน้ำอย่างเป็นธรรม

ร่างพ.ร.บ.ที่เปิดรับฟังความเห็นยาวนาน

ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ แหล่งข่าว ย้ำว่า ผ่านการรับฟังความเห็นในหลายๆ เวทีตลอด 1 ปีกว่าที่ผ่านมา รวมกว่า 10 เวที 5 จังหวัด และปรึกษาหารือระหว่างหน่วยงานมาอย่างต่อเนื่อง รวมกว่า 130 ครั้งถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่เวลาร่างยาวนานและรับฟังความเห็นมากที่สุด ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ได้ส่งถึงคณะรัฐมนตรีแล้ว จากนั้นจะส่งกลับมาที่คณะกรรมธิการฯอีกครั้ง และเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติวาระ 2 และ3

อย่างไรก็ตาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใช้อำนาจตาคำสั่งม.44 ออกคำสั่งที่46 นำกลไกบางส่วนในร่างพ.ร.บ.ไปดำเนินการแล้ว ได้แก่ การจัดตั้งกนช. และจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)  มี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เป็นเลขาธิการคนแรกเป็นหน่วยงานมาดูแลกำกับ

โครงสร้างค่าน้ำถ่วงผลักดันพรบ.น้ำ

แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความกังวลที่อาจทำให้กระบวนการออกพ.ร.บ.นี้ล่าช้า คือ ประเด็นโครงสร้างค่าน้ำ เพราะอาจมีการแปลความว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้จะนำไปสู่การเก็บค่าน้ำกับคนจน ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น ร่างพ.ร.บ.กำหนดชัดเจนจะไม่มีการเก็บกับผู้ใช้น้ำประเภท 1 ส่วนอัตราการจัดเก็บประเภท 2 และ 3 ซึ่งเป็นผู้ใช้ประเภทอุตสาหกรรมและการพาณิชย์จะเก็บอย่างไร ขึ้นอยู่กับการออกกฏกระทรวงที่จะต้องนำไปรับฟังความเห็น และขึ้นกับกฎหมายฉบับที่เกี่ยวข้องเดิม เช่น หากพื้นที่นั้นใช้น้ำบาดาล ก็เป็นไปตามพ.ร.บ.น้ำบาดาล 2521

20180710 104947
งานเสวนาพ.ร.บ.น้ำกับอนาคตการประปา ณ สำนักงานการประปานครหลวง ประชาชื่น
“ขณะนี้เรามีปริมาณสำรองน้ำต่ำมาก” สำเริง แนงภู่วงศ์

ในงานเสวนา”พ.ร.บ.น้ำกับอนาคตการประปา” เมื่อเร็วๆนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างกังวลกับสถานการณ์น้ำของประเทศไทย และเห็นความจำเป็นในการออกพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ

“ขณะนี้เรามีปริมาณสำรองน้ำต่ำมาก” นายสำเริง แนงภู่วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุ และว่า แหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญคือเขื่อน ปัจจุบันมี 2 เขื่อนที่เก็บน้ำสำรองหลักของประเทศ คือเขื่อนภูมิพล สามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 13,000 ล้านลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ รองรับน้ำได้สูงสุด 9,500 ล้านลบ.ม.

สองเขื่อนนี้เป็นเขื่อนหลักให้ไทยมาแล้วรวม 65 ปีและ 46 ปีตามลำดับตั้งแต่ประเทศไทยมีประชากร 20 ล้านคน แต่ปัจจุบันพุ่งเป็นเกือบ 70 ล้านคนแล้ว

กรมชลฯเตือนจะวิกฤติน้ำขั้นรุนแรง

” สถานการณ์หลังจากนี้เราจะพบกับวิกฤติน้ำรุนแรงขึ้น  แต่ความต้องการใช้น้ำที่สูงขึ้น” ทองเปลว กองจันทร์

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ย้ำว่าถึงตอนนี้ยังมีแค่ 2 เขื่อนหลัก สำหรับบริหารจัดการน้ำของทั้งประเทศ จำเป็นต้องมาคิดถึงความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนาประเทศ เพราะสถานการณ์หลังจากนี้เราจะพบกับวิกฤติน้ำรุนแรงขึ้น และความต้องการใช้น้ำที่สูงขึ้น

จากข้อมูลการใช้น้ำของคนไทยแสดงให้เห็นว่าในปี 2549 คนไทยใช้น้ำเฉลี่ย 36 ลิตรต่อวันต่อคน และใช้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2555 ปริมาณการใช้น้ำเฉลี่ยต่อวันต่อคน เพิ่มเป็น 48 ลิตร และปี 2557 อยู่ที่ 119 ลิตรต่อวันต่อคน

นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ย้ำว่าในระหว่างที่มีกระบวนการร่างพ ร.บ.ทรัพยากรน้ำนั้น นอกการการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้งแล้ว จะต้องเสนอเข้าไปให้บรรจุมาตรการเชิงบังคับ เพื่อให้ประชาชนประหยัดการใช้น้ำไว้ ในกฎหมายฉบับนี้ไว้ด้วย เพื่อให้ประชาชนรู้คุณค่าของการใช้น้ำ

เปิดสาระสำคัญพรบ.ทรัพยากรน้ำ

สาระของพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ  พุ่งเป้าไปที่การวางโครงสร้างการทำงานอย่างบูรณาการ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดรูปเป็นคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

กรรมการหลักๆเป็นระดับรัฐมนตรี 5 กระทรวงสำคัญ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรและสหกรณ์ พลังงาน มหาดไทย และอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ. เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำจำนวน 6 คนจาก 6 ภาค และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการ ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายน้ำของประเทศที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และเป็นเป็นศูนย์กลางของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับน้ำทั้งหมดของประเทศไทย

การบริหารจัดการตามโครงสร้างใหม่นั้น แหล่งข่าวจากคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า กรณีเกิดน้ำท่วม มักจะเกิดข้ามจังหวัด กนช.จะส่งคนจากคณะกรรมการฯ ลงไปเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์คล้ายกรณีถ้ำหลวง ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่

ส่วนการทำงานในระดับภาคจะมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ 6 คณะ แบ่งเป็น 6 ภาคตามเขตการปกครอง ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำของประเทศ ทำหน้าที่ดูแลในระดับพื้นที่ มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่แต่ละลุ่มน้ำเลือกกันเองเป็นประธาน

กฎหมายฉบับนี้มอบอำนาจให้กับคณะกรรมการชุดนี้สั่งการ และดำเนินการต่างๆ และให้คณะกรรมการลุ่มน้ำแต่ละพื้นที่ สามารถตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานดูแลลุ่มน้ำสาขา หรือดูแลลำน้ำของแต่ละจังหวัดได้

ในกรณีเกิดเหตุการณ์ อาทิ โรงงานปล่อยน้ำเสีย ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำให้อำนาจ 3 องค์กรฟ้องร้องทางคดีได้ ประกอบด้วย กรมน้ำ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยื่นฟ้องร้องทางคดีได้ โดยกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้ 9 กรณีครอบคลุมทั้งหมด อาทิ ค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องใช้เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรน้ำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือบุคคล หรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นเนื่องจากความเสียหาย เพื่อเป็นฐานคิดค่าเสียหายสำหรับฟ้องร้องทางคดี โดยโรงงานต้นกำเนิดความเสียหายจะมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตการใช้น้ำ

อีกสาระสำคัญของพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การกำหนดให้ต้องมีผังน้ำเพื่อแสดงทางน้ำผ่าน ทางน้ำหลาก และลักษณะภูมิประเทศของ 2 ฝั่งลำน้ำ โดยบังคับให้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้งหมด อาทิ การตัดถนน สะพาน นิคมอุตสาหกรรม หรือโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องนำผังน้ำดังกล่าวไปพิจารณาด้วย เพื่อให้ออกแบบทางวิศวกรรมหลีกเลี่ยงการตัดถนน หรือสร้างโรงงานขวางเส้นทางน้ำ เป็นต้น

Avatar photo