Economics

‘สนธิรัตน์’ ดึง ‘หมอพลเดช’ วาง 4 โมเดล ให้ประชาชนเข้าถึงพลังงาน

“สนธิรัตน์” ดึง “หมอพลเดช” วาง 4 โมเดล ให้ประชาชนเข้าถึงพลังงาน ตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานราก เตรียมตั้งเวทีถ่ายทอดคอนเซปต์ให้ผู้บริหารกระทรวง เร่งเดินหน้าทิศทางเดียวกัน

LINE P20191027 214546875 1

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะทำงาน และผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เยี่ยมชมโครงการพลังงานสร้างอาชีพแบบผสมผสาน “ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและพลังงานทางเลือกกาญจนบุรี” ดำเนินงานในลักษณะวิสาหกิจชุมชน ที่ ตำบล ท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

LINE P20191027 214602573

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ตนได้ดึงนพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งทำงานด้านเศรษฐกิจฐานรากมาตลอดมาศึกษาโมเดล การทำให้ประชาชนเข้าถึงพลังงาน โดยจะมี 4 โมเดล เป็นแนวทางของกระทรวงพลังงานที่จะทยอยทำต่อจากนี้ โดยจะเชิญนพ.พลเดช มาบอกเล่ารายละเอียด ให้กับข้าราชการกระทรวงพลังงานรับฟังในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ เพื่อจะเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

โดยสิ่งที่ตนเองคิดไว้ และอยากทำให้เป็นรูปธรรม ก็คือ การนำพลังงานมาช่วยภาคเกษตร โดยเฉพาะการทำห้องเย็นมาเก็บสินค้าเกษตร  และให้มีกระจายไปในชุมชนต่างๆให้มากที่สุด เพราะจะเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรที่เน่าเสียงาย ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำห้องเย็นติดลบ 60 องศาเซลเซียส สามารถเก็บผักผลไม้ได้ถึงสูงสุดถึง 10 ปี

IMG 20191026 175231 1
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

นพ.พลเดช เล่าว่า 4 โมเดลที่ได้ศึกษามานั้น ได้ผ่านการศึกษา และลงพื้นที่ จึงเป็นแนวทางที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน และทำให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานได้อย่างแท้จริง ประกอบด้วย

1.Smart Hybrid off Grid Power Plant ทำให้ชุมชนที่อยู่ห่างไกล และยากจน เช่น อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีไฟฟ้าใช้ให้ครอบคลุม ซึ่งมีราว 2,000 ชุมชน ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณเข้ามาสนับสนุน แนวทางก็คือ การติดตั้งเครื่องปั่นไฟ เป็นต้น

2.Smart Hybrid off/on Grid Power Plant ชุมชนที่ไฟฟ้าเข้าถึงแล้ว แต่อยู่ปลายสายสายส่ง เกิดปัญหาไฟฟ้าตกๆดับๆตลอดเวลา จะต้องเข้ามาสนับสนุนพลังงานทางเลือกต่างๆ เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และมีเครื่องปั่นไฟเป็นทางเลือก

3. Station Energy หรือ สถานีพลังงาน เป็นโมเดลการใช้พลังงานอย่างผสมผสาน แบบ”ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและพลังงานทางเลือกกาญจนบุรี” ซึ่งยังไม่มีให้เห็นมากนัก เป็นการเชื่อมโยงใช้พลังงานแบบผสมผสาน ในกระบวนการผลิตต่างๆ มีการติดตั้งโซลาเซลล์ มาใช้สูบน้ำในแปลงเกษตรปลอดสารพิษ ใช้ในห้องเย็นเก็บผลผลิต โรงงานผลิตน้ำแข็ง และยังมีการผลิตน้ำมันดีเซล จากขยะพลาสติก

ถือว่าโมเดลนี้ตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานรากได้มากที่สุด จะต้องผลักดันให้มีการขยายผลไปพื้นที่อื่นๆต่อไป โมเดลนี้ทางศูนย์ฯ เรียกตัวเองว่า “นิคมอุตสาหกรรมชุมชน” เพราะนำพลังงานทางเลือกมาใช้ลดต้นทุนการประกอบกิจการแบบวิสาหกิจชุมชนของศูนย์ฯ

IMG 20191026 164330

และ 4. ปั๊มน้ำมันชุมชน ปัจจุบันมีอยู่ราว 1,200 แห่งที่มีปั๊มชุมชนอยู่ แต่เป็นการนำน้ำมันจากปตท.หรือบางจาก หรือค่ายต่างๆมาขายในชุมชน แต่เราจะปรับให้เป็นการนำขยะพลาสติกที่มีในชุมชน มาผลิตเป็นน้ำมันดีเซลเติมรถในหมู่บ้าน ช่วยลดต้นทุนเหลือลิตรละ 7 บาท ลดค่าใช้จ่ายให้กับชุมชนได้อย่างดี ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นกับนายสนธิรัตน์ ระบุว่าโมเดลนี้ สามารถทำได้

S 9625632

S 84107346

สำหรับ“ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและพลังงานทางเลือกกาญจนบุรี” เป็นศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ ปลูกผักปลอดสารเคมี โดยนำพลังงานมาใช้ลดต้นทุนการผลิต นายยุทธการ มากพันธุ์ ผู้จัดการศูนย์ฯ ระบุว่า ศูนย์ฯ มุ่งเน้นแนวทางลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรที่ทำเกษตรปลอดสารเคมี เช่น การทำปุ๋ยหมัก การเผาถ่านเพื่อเก็บน้ำส้มควันไม้ เลี้ยงสุกรหลุม การจัดการโรคพืช การจัดการแมลงด้วยสมุนไพร และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

S 9625616
ยุทธการ มากพันธุ์

แต่ก็พบว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา สภาพภูมิอากาศไม่แน่นอนจากโรคพืชที่รุนแรงมากขึ้น และการทำเกษตรกรรมปลอดสาร สู้ผลผลิตทางเกษตรที่ใช้สารเคมี ซึ่งราคาถูกกว่าไม่ได้ จึงมามองเรื่องการลดต้นทุน และก็พบว่าการนำพลังงานทางเลือกมาใช้จะช่วยได้ และต้องคิดต่อยอดด้วย จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

LINE P20191027 214651703

จึงมีการลงทุนนำโซลาร์เซลล์มาติดตั้ง ผลิตไฟฟ้าใช้ในศูนย์ฯขนาด 20 กิโลวัตต์ชั่วโมง นำไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มาสูบน้ำ ใช้รดน้ำในแปลงผักปลอดสารพิษ ปั่นไฟใช้ในห้องเย็นแช่ผัก และปั่นไฟผลิตน้ำแข็งขายราคาถูก และซื้อเครื่องผลิตน้ำมันดีเซลจากขยะพลาสติก ได้แก่ ขวดพลาสติกใส ถุงแกง และยางรถยนต์ โดยขยะ 100 กก.ได้น้ำมันดีเซล 80 ลิตร มีประชาชนศรัทธานำขยะมาให้อย่างไม่ขาดสาย โดย 20% ของน้ำมันดีเซลที่ผลิตได้บริจาคให้วัดเหนือ สำหรับนำไปเผาศพไร้ญาติ

S 9625629
ทิวาพร ศรีวรกุล

นางทิวาพร ศรีวรกุล ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ศูนย์ฯตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ชุมชน เกษตรกรพึ่งพาตัวเอง และปลูกผักปลอดสารพิษกินเองในครัวเรือน ต่อมาเริ่มปลูกอย่างจริงจัง เพื่อขาย หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมการบริโภค และสร้างตลาดพืชผักปลอดสาร พร้อมกับออกมาตรการให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ใช้พืชผักปลอดสารเคมีในการผลิตอาหารให้ผู้ป่วย ศูนย์ฯซึ่งทำเรื่องนี้มานาน จึงได้รับการคัดเลือกส่งผักปลอดสารเคมีให้กับโรงพยาบาลทั้งในกาญจนบุรี และกรุงเทพ ปัจจุบันส่งให้รวม 7 แห่ง เมื่อปี 2560

ประกอบกับปัจจุบันประชาชนกลัวโรคมะเร็ง จึงนิยมบริโภคผักปลอดสาร ทำให้พืชผักที่ผลิตได้รับการตอบรับอย่างดีไม่พอขาย มีรายได้จากการขายผักปลอดสารปีละกว่า 7 ล้านบาท

IMG 20191026 175853

ขณะเดียวกันเมื่อเห็นตลาดชัดเจนเกษตรกรจำนวนไม่น้อย ก็หันมาปลูกผักปลอดสารเคมีมากขึ้น และมาส่งให้เรา โดยศูนย์ฯจะจ่ายเงินให้เกษตรกรก่อน ทำให้มีเงินหมุนทันที มีสมาชิกเข้ามาขายผักให้เรามากขึ้นกว่า 100 รายแล้ว และมีแปลงเกษตรปลอดสารเคมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนวันนี้เพิ่มเป็น 1,000 ไร่ในกาญจนบุรี

สิ่งที่เราจะทำต่อไป คือ การรณรงค์ให้เกษตรกรเลิกทำเกษตรเชิงเดี่ยว หันมาปลูกผักผลไม้ปลอดสารเคมี ให้มากขึ้น เพราะตลาดขยายตัวอย่างชัดเจน มีร้านอาหารและโรงพยาบาลจำนวนไม่น้อยทั้งในกาญจนบุรี จังหวัดใกล้เคียง และกรุงเทพมาติดต่อให้ส่งผักผลไม้ปลอดสารเคมีให้ แต่เรายังไม่สามารถทำได้ เพราะผลผลิตไม่พอ

ขณะเดียวกันก็จะทำโรงงานผลิตสารสมุนไพรกำจัดศัตรูพืชทั้งหนอนและแมลง ซึ่งจะมีหลายๆสูตร ส่วนผสม เช่น ต้นหางไหล เม็ดมันแกว ยาสูบ เป็นต้น โดยร่วมกับสถาบันราชภัฏกาญจนบุรี และมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน

S 9625628

โดยกำลังผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 15 ล้านบาท ซึ่งจะนำเสนอครม.สัญจรที่จะมาประชุมที่กาญจนบุรีด้วย เพราะถือเป็นมาตรการที่สอดรับกับแผนการแบน 3 สารเคมีที่รัฐบาลสนับสนุน ซึ่งโรงงานนี้จะเป็นทางออก และจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชปลอดสารมากขึ้น

“เกษตรกรไม่ต้องกังวลอีกต่อไป การแบน 3 สารเคมีไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำเกษตร เพราะการหันมาปลูกพืชปลอดสารเคมีในเวลานี้มีอนาคตสดใส ตลาดขยายตัวอย่างมาก ขณะเดียวกันก็มีวิธีกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยสมุนไพร ซึ่งโรงงานของเราที่กำลังผลักดันจะเป็นทางออกให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้  เพราะเราทำจำนวนมาก ต้นทุนจะถูกลง และศูนย์ฯก็ต้องการขายราคาถูกด้วย  ส่วนยาฆ่าหญ้าก็ไม่ต้องใช้ได้ หากเราวางแผนและบริหารจัดการแปลงเกษตรอย่างดี นอกจากนี้การปลูกผักปลอดสาร ซึ่งมีอายุสั้น 30-45 วัน ยังทำให้มีเงินหมุนเร็ว ไม่ต้องรอ 8-9 เดือนเหมือนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว “

IMG 20191026 173431

 

Avatar photo