Economics

‘องค์กรธุรกิจ’ จับมือประกาศเจตนา ร่วมแก้ไขปัญหา PM 2.5

องค์กรธุรกิจ ประกาศจับมือแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างจริงจัง ออกมาตรการระยะสั้น-กลาง-ยาว เน้นช่วงวิกฤติ 4 เดือน นำร่องให้พนักงานทำงานที่บ้าน ปรับปรุงประสิทธิภาพการกระจายสินค้าและขนส่ง เร่งผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐานสูง ผู้เชี่ยวชาญ ย้ำดีเซลกำมะถันต่ำกว่า 10 ppm-เครื่องยนต์ยูโร 6 แก้ปัญหาตรงจุดที่สุด

IMG 20191024 165415

วันนี้ (24 ต.ค.) องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development: TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) เสวนาเรื่อง “ก้าวสำคัญของภาคธุรกิจไทย (TBCSD) : เดินหน้าร่วมแก้ไขปัญหา PM 2.5 ” เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว และกระตุ้นสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วม

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธาน TBCSD กล่าวว่า TBCSD ก่อตั้งมาเกือบ 30 ปีแล้ว ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจชั้นนำในประเทศไทย และมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นสำนักงานเลขาธิการ ปัจจุบัน TBCSD มีสมาชิกกว่า 40 องค์กร และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา TBCSD ได้เปิดตัว New Chapter อย่างเป็นทางการ ภายใต้พันธกิจ “ส่งเสริมให้ธุรกิจในประเทศไทยมีความยั่งยืน และประสบความสำเร็จ เพื่อช่วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกที่ยั่งยืน”

โดยจะเน้นดำเนินงานในประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ (Country Issue) เช่น PM 2.5 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาอาศ (Climate Change) การจัดการขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติก และ ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ

IMG 20191024 165911
ประเสริฐ บุญสัมพันธ์

สำหรับปัญหา PM 2.5 นั้นถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรธุรกิจด้วยกัน และทุกภาคส่วน เนื่องจากส่งผลกระทบกับทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง โดย TBCSD ได้หารือถึงสาเหตุของปัญหา และกำหนดมาตรการ เพื่อขอความร่วมมือจากสมาชิกโดยสมัครใจ ในการร่วมแก้ไขปัญหานี้

IMG 20191024 165630
วิจารย์ สิมาฉายา

ทางด้านนาย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการ TBCSD และผู้อำนวย TEI กล่าวรายละเอียดว่า จากการประชุมร่วมกันของบริษัทเอกชนที่อยู่ในกลุ่ม TBCSD  จะร่วมกันดำเนินมาตรการต่างๆ  แบ่งเป็นมาตรการแก้ปัญหาในช่วงวิกฤติ หรือปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 และมาตรการระยะปานกลาง และระยะยาว

ในช่วงวิกฤติ PM 2.5 ซึ่งมักจะเกิดช่วง 4 เดือน หรือตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี มาตรการสำคัญจะมีการจัดระบบการทำงานในองค์กรใหม่ โดยให้ทำงานที่บ้าน ซึ่งหลายบริษัทก็รับลูก และเริ่มนำร่องแล้วในช่วงวันที่คณะรัฐมนตรีประกาศหยุด 4-5 พฤศจิกายนนี้ เพื่อลดการแออัดของการจราจร พร้อมกับส่งเสริมพนักงานใช้รถโดยสารสาธารณะ

รวมไปถึงการใช้ยานยนต์ที่ก่อมลพิษต่ำในองค์กรมากขึ้น เช่น รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ไบโอดีเซล ,น้ำมันที่มีค่ากำมะถันต่ำ ไม่เกิน 10 ppm ,ยานยนต์ไฟฟ้า, ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) และเพิ่มการบริหารกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลีกเลี่ยงการนำรถดีเซลเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพ และจะรณรงค์ไปถึงคู่สัญญาด้วย

ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการไม่เผาในที่โล่ง ด้วยการทำการซื้อขายสินค้าเกษตรภายใต้เงื่อนไขว่าต้องปราศจากการเผา มาตรการเหล่านี้จะเกิดผลกระทบในวงกว้างแน่นอน เพราะ TBCSD  ล้วนเป็นองค์กรขนาดใหญ่

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว หลายๆ บริษัทเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม พยายามคิดค้นนวัตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีที่ส่งเสริมการเกษตรแบบไม่เผา และยังทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม และภาคธุรกิจอื่นๆ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม

ทางด้านนายวีระ อัครพุทธิพร กรรมการสถาบันน้ำ และสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) องค์กรพันธมิตรของ TBCSD กล่าวว่า ส.อ.ท. มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ผ่านโครงการส่งเสริมระบบบริหารจัดการพลังงานในภาคขนส่ง (Logistics and Transport Management: LTM)

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรม บริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในกระบวนการผลิตและการขนส่ง รวมถึงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้มีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ใช้เชื้อเพลิงสะอาด และเพิ่มมาตรการ ตรวจติดตาม และป้องกันฝุ่นอย่างใกล้ชิด โดยส.อ.ท.ได้ขอความร่วมมือจากสมาชิกส.อ.ท. ให้นำมาตรการดังกล่าวไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงกลั่นที่ผลิตน้ำมันยูโร 5 ได้แล้ว ได้แก่ โรงกลั่นบางจาก และโรงกลั่นของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี แต่ยังมีปริมาณจำกัด เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง

ในส่วนโรงกลั่นของบริษัทยังผลิตไม่ได้ แต่ก็ใช้วิธีการนำดีเซลค่ากำมะถันสูงมาผ่านกระบวนการต่อที่โรงกลั่นของจีซี ทำให้ได้กำมะถันต่ำลง และบรรทุกลงเรือมาขึ้นที่คลังพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ จำหน่ายในเขตกทม. และปริมณฑล

อย่างไรก็ตามภายใน 1 มกราคม 2567 โรงกลั่นทุกแห่งมีข้อกำหนดจะต้องผลิตดีเซลค่ากำมะถันต่ำไม่เกิน 10 ppm ในส่วนบริษัทอาจทำได้ก่อนกฎหมายบังคับ รวมไปถึงการผลิตน้ำมันดีเซลบี 10 ที่จะกลายเป็นน้ำมันเกรดมาตรฐานบังคับในวันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะผลิตจำหน่ายให้ผู้ค้ามาตรา 7

นอกจากนี้ในกลุ่มปตท.ยังมีนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ทั้งภายในองค์กรและคู่ค้า และกำลังเริ่มให้พนักงานทำงานที่บ้าน เพื่อลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน และลดปัญหาการจราจร ต้นเหตุของ PM 2.5 ในส่วนของบริษัทนำร่องในช่วงวันที่ 4-5 พฤศจิกายนนี้

IMG 20191024 162016
สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา

ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศของ TEI ได้ออกมาย้ำถึงสถานการณ์ PM 2.5 ล่าสุดว่า ในระยะสั้นนี้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหาช่วงวิกฤติ PM 2.5  ที่จะเกิดขึ้นในช่วงธันวาคม และมกราคมที่จะถึงนี้

ในภาพรวมค่าเฉลี่ย รายปีของ PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2554-2561 มีค่าลดลงทุกปี แต่กรุงเทพฯ ต้องประสบปัญหา ค่า PM 2.5 เกินมาตรฐานในช่วงฤดูหนาว

เนื่องจากปัจจัยด้านภูมิอากาศ ซึ่งมีอากาศที่ปิด ทำให้มลพิษทางอากาศ และ PM 2.5 ไม่สามารถกระจายออกไปได้ และถูกกักไว้ในชั้นบรรยากาศที่ติดกับพื้นดิน ซึ่งปัจจัยนี้เป็นเรื่องทางธรรมชาติที่เราแก้ไขไม่ได้ สิ่งที่จะแก้ไขได้ คือ การลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด

จากการวิเคราะห์ถึงแหล่งของ PM 2.5 ในกรุงเทพ พบว่าเกิดจาก 3 สาเหตุหลัก

  1. จากการเผาไหม้เครื่องยนต์ดีเซล 34% 
  2. การเผามวลชีวภาพในที่โล่ง 28%
  3. secondary particles ฝุ่นจากรถยนต์ที่ไม่มีตัวกรองในท่อไอเสีย สัดส่วน 13% 

นอกจากนี้ ยังพบว่าค่ามลพิษทางอากาศจะสูงขึ้นเมื่อการจราจรติดขัดมากขึ้นอีกด้วย ส่วนแหล่ง PM 2.5 หลักๆ ในภาคเหนือของไทย มาจากการเผาในที่โล่ง เช่น การเผาขยะ การเผาจากการเกษตรและไฟป่า

สำหรับมาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 ที่ดีที่สุด คือ ลดจากแหล่งกำเนิด โดยเฉพาะการนำน้ำมันดีเซลค่ากำมะถันต่ำกว่า 10 ppm หรือ น้ำมันเกรดยูโร 5 มาใช้ ซึ่งไทยจะบังคับใช้ในปี 2567 จะช่วยลดค่ามลพิษไปได้มาก เพราะมีรถดีเซลวิ่งอยู่ถึง 4-5 ล้านคันในปัจจุบัน และจะต้องกระตุ้นให้มีการผลิต และจำหน่ายรถเครื่องยนต์ยูโร 6 เพราะจะมีเครื่องกรองฝุ่นติดกับท่อไอเสีย ซึ่งทราบว่าค่ายรถยนต์กำลังพัฒนา ซึ่งทั้งสองมาตรการจะช่วยแก้ปัญหา PM 2.5 ได้มาก

ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องดูแลสุขภาพ โดยใส่หน้ากากอนามัย สำหรับหน้ากาก N 95 จะช่วยกรองได้ 99.59%  หน้ากากธรรมดากรองได้ 66.37% หน้ากากอนามัย 2 ชั้น กรองฝุ่นได้ 89.75% หน้ากากอนามัย บวกกระดาษทิชชู กรองได้ 98.05% หน้ากากอนามัย บวกกระดาษทิชชู 2 ชั้น กรองได้ 67.04% เพราะทิชชูหนาเกินไป จะทำให้หน้ากากอนามัยไม่พอดีกับใบหน้าผู้สวมใส่

Avatar photo