Economics

ผู้โดยสารทะลัก! ‘แอร์พอร์ตลิงก์’ ผุดโปรเจ็คลดที่นั่ง เพิ่มที่ยืน แก้รถไฟฟ้าแออัด

“รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.” เทงบ 18 ล้านบาท ผุดโปรเจ็คลดที่นั่ง เพิ่มที่ยืน ขยายความจุให้ “รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์” วันละ 8,200 คน พร้อมวางแผนชง “CP” ให้ช่วยจัดหารถอีก 5 ขบวน

suthep

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้บริหารการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า ในปี 2562 แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีรถไฟฟ้าให้บริการครบ 9 ขบวน ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ประมาณ 14% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ในช่วงวันจันทร์-พฤหัสบดี รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 8 หมื่นคนต่อวัน ส่วนวันศุกร์จะมีผู้โดยสารหนาแน่นมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 9 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารอยู่ที่ 8.4 หมื่นคนต่อวันเท่านั้น

 

ลดที่นั่ง เพิ่มพนักพักสะโพก

ในปีงบประมาณ 2563 บริษัทจึงมีโครงการปรับปรุงขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่มีอยู่ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น ด้วยการลดที่นั่งจาก 150 ที่นั่งต่อขบวน เหลือ 84 ที่นั่งต่อขบวน โดยมีทางเลือกอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่

แนวทางที่ 1 ลดจำนวนที่นั่งเหลือจาก 150 ที่นั่ง เหลือ 84 ที่นั่ง โดยติดตั้งพนักพักสะโพก ทดแทนเก้าอี้ที่ถูกถอดไป ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารเพิ่มได้ 8,800 คนต่อวัน รวมเป็น 9.28 หมื่นคนต่อวัน

284495

แนวทางที่ 2 ลดจำนวนที่นั่งเหลือจาก 150 ที่นั่ง เหลือ 84 ที่นั่ง โดยติดตั้งพนักพักสะโพก ทดแทนเก้าอี้ที่ถูกถอดไป พร้อมเปลี่ยนเก้าอี้ที่เหลืออยู่บางส่วนให้เป็นเก้าอี้แบบพับได้ ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารเพิ่มได้ 8,200 คนต่อวัน รวมเป็น 9.22 หมื่นคนต่อวัน

284498

รองรับได้อีก 1 ปี

บริษัทได้นำแนวคิดดังกล่าว ไปรับฟังความคิดเห็นผู้โดยสารผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Airport Rail Link ซึ่งปรากฎว่ามีผู้ร่วมโหวตกว่า 9 พันคน และส่วนใหญ่ 57% เลือกแนวทางที่ 2 ซึ่งบริษัทก็จะดำเนินการตามความคิดเห็นของประชาชนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทยังไม่สามารถดำเนินการโครงการฯ ได้ทันที เพราะต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ผ่านความเห็นชอบก่อน โดยเมื่อกฎหมายผ่านความเห็นชอบแล้ว ก็ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอีก 4 เดือน จากนั้นจึงเริ่มการปรับปรุงรถไฟฟ้าขบวนแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ใช้เวลาปรับปรุงขบวนละ 2 สัปดาห์ และแล้วเสร็จครบทั้ง 9 ขบวนในมิถุนายน 2563

“โครงการนี้จะใช้งบประมาณ 2 ล้านบาทต่อขบวน หรือรวมแล้ว 18 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มความจุของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ อีก 8,200 คนต่อวัน เป็น 9.2 หมื่นคนต่อวัน รองรับการเติบโตของผู้โดยสารไปได้อีก 1 ปี ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปลายปี 2564 หลังจากนั้นเราจะส่งมอบแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ไปให้ผู้ชนะการประมูลไฮสปีดบริหารต่อ” นายสุเทพกล่าว

S 72540201

ชง “CP” จัดหารถอีก 5 ขบวน

สำหรับกรณีที่ผู้โดยสารเรียกร้องให้เพิ่มขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้เพียงพอต่อความต้องการนั้น นายสุเทพกล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องรอให้บริษัทโอนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ไปให้ผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา บริหารก่อน

โดยขณะนี้ต้องรอความชัดเจนในการลงนามสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CPH) ผู้ชนะโครงการรถไฟความเร็วสูง ในวันที่ 25 ตุลาคม 2562 นี้

ถ้าหาก CPH ลงนามสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ เรียบร้อยแล้ว บริษัทก็จะเข้าไปหารือกับ CPH เรื่องการโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ทันที โดยเฉพาะประเด็นการจัดหาขบวนรถเพิ่มเติมให้เพียงพอกับความต้องการของผู้โดยสาร ซึ่งบริษัทได้ประเมินว่า ความต้องการใช้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่แท้จริงอยู่ที่ 1.2 แสนคนต่อวัน จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาขบวนรถเพิ่มอีก 4-5 ขบวน เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 3 หมื่นคนต่อวัน

นอกจากนี้ บริษัทจะหารือกับ CPH เพื่อให้ CPH รับโอนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์เร็วขึ้น จากกำหนดเดิมต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ก็ให้เร็วขึ้นเป็นกลางปี 2563 หรือแล้วแต่ความพร้อมของ CPH เพื่อให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. สามารถไปปฏิบัติภารกิจบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ได้อย่างเต็มที่ โดยรถไฟฟ้าสายสีแดงมีกำหนดเปิดให้บริการจริงในเดือนมกราคม 2564 แต่บริษัทต้องเข้าไปทดลองเดินรถเสมือนจริงก่อน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2563

Avatar photo