Economics

‘ทางหลวงชนบท’ ของบเปลี่ยนทางลูกรังเป็น ‘ถนนลาดยาง’ 843 กิโลเมตร

“ทางหลวงชนบท” ขอจัดสรรงบประมาณปี 63 รวม 4.8 หมื่นล้านบาท บรรจุโครงการเปลี่ยนทางลูกรังเป็น “ถนนลาดยาง” เพิ่ม 843 กม. ด้าน “ศักดิ์สยาม” สั่งตั้งศูนย์รับมือน้ำท่วมภาคใต้

DSC5494

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ครบรอบ 17 ปี ในวันนี้ (9 ต.ค.) ว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบกลางเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคเหนือแล้ว ตนก็ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงชนบทเร่งช่วยเหลือประชาชนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ขอให้กรมทางหลวงชนบทเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ด้วยการเตรียมเครื่องมือต่างๆ สะพานหล็กสำเร็จรูปชนิดถอดประกอบได้ (สะพานเบลีย์) และตั้งศูนย์เพื่อรองรับสถานการณ์

นายปฐม เฉลยวาเรศ รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมทางหลวงชนบทมีถนนโครงข่ายในความรับผิดชอบทั่วประเทศจำนวน 3,267 สายทาง ระยะทางรวม 47,960 กิโลเมตร

ในปีงบประมาณ 2563 กรมทางหลวงชนบทขอรับการสนับสนุนงบประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการตามภารกิจและนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ ถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีตเพื่อการแก้ไขปัญหาจราจรในปริมณฑลและภูมิภาค, ถนนในเขตผังเมืองรวม, ถนนสนับสนุนการท่องเที่ยว, ถนนเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้, ถนนเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่ง, ถนนเพื่อสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

เบื้องต้นมีการบรรจุโครงการก่อสร้างจากถนนลูกรัง เป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีตจำนวน 439 โครงการ ระยะทาง 843.905 กิโลเมตร, สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วประเทศจำนวน 140 โครงการ ความยาวรวม 9,167 เมตร ตลอดจนงานซ่อมบำรุงโครงข่ายทางหลวงชนบททั่วประเทศและอำนวยความปลอดภัยทางหลวงชนบท เป็นต้น

fig 10 05 2019 04 44 22

นอกจากนี้ กรมทางหลวงชนบทยังมีโครงการก่อสร้างเส้นทางถนนเลียบชายฝั่งภาคใต้ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว (โครงการไทยแลนด์ ริเวียร่า) ซึ่งได้พัฒนาถนนเลียบชายฝั่งจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนองแล้วเสร็จ เป็นระยะทางประมาณ 500 กิโลเมตร

จากนั้นเตรียมขอจัดสรรงบประมาณปี 2563 เพื่อเริ่มต้นศึกษาความเหมาะสมของเส้นทางต่อขยาย พร้อมจัดทำวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายใต้งบประมาณปี 2564

สำหรับแนวเส้นทางส่วนต่อขยายที่กรมทางหลวงชนบทจะศึกษาความเหมาะสมมีจำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ สมุทรปราการ – สมุทรสงคราม เพื่อต่อกับเส้นทางเลียบชายฝั่งเฟสแรก และ 2. เชื่อมต่อจากแนวเส้นทางเดิน เริ่มที่จังหวัดสงขลา – นราธิวาส เพื่อเพิ่มโอกาสการเดินทางท่องเที่ยวลงภาคใต้ ขณะเดียวกันยังจะศึกษาถนนเลียบชายฝั่งตะนาวศรี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามันเพิ่มเติม

ยางพารา

สำหรับการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในการซ่อมสร้าง ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนั้น กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ร่วมกับคณะนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศึกษาแนวทางการนำยางพารามาใช้ในงานบำรุงรักษาทาง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ได้แก่ เสาหลักนำทาง

โดย ทช.ได้ติดตั้งเสาหลักนำทางเป็นต้นแบบ (prototype) แล้วที่จังหวัดตรัง รวมถึงแบริเออร์แบบ Single Slope Barrier หุ้มด้วยยางพารา หนา 2 นิ้ว ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ สามารถลดแรงกระแทกเพิ่มขึ้นได้ถึง 30% และคาดว่าจะลดความรุนแรงของอัตราการบาดเจ็บลงได้

Avatar photo