Economics

ธ.ก.ส.เตรียมสินเชื่อ 5,000 ล้าน ปล่อยกู้โครงการ ‘โรงไฟฟ้าชุมชน’ 20 ปี

3 ภาคส่วนร่วมแชร์ไอเดีย “โรงไฟฟ้าชุมชน” เสนอเกณฑ์ชุมชนร่วมถือหุ้น 10-30% จัดสรรเงินเข้าชุมชน 25 สตางค์ต่อหน่วย 20 โครงการเอกชนขอเข้า “ควิกวิน” ด้านธ.ก.ส.เตรียมสินเชื่อ 5,000 ล้านปล่อยกู้โครงการ 20 ปี  

S 1155305

วันนี้ (9 ต.ค.) กระทรวงพลังงานเปิดเวทีระดมความคิดเห็น ดึงทุกภาคส่วนร่วมนำเสนอความเห็น เพื่อเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน อาทิ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ

S 1155304

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้จัดรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” เพื่อรวบรวม นำไปสู่การจัดทำกรอบการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ผ่านกลไกกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้า ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน โดยมี 5 คำถามที่ให้ทุกฝ่ายช่วยกันหาคำตอบร่วมกันในครั้งนี้ ประกอบด้วย

1. การถือหุ้นของโรงไฟฟ้า ระหว่างชุมชนกับเอกชน สัดส่วนเท่าใดจึงจะเหมาะสม โดยชุมชนได้รับเป็นหุ้นบุริมสิทธิ เป็นไปได้หรือไม่อย่างไร ?
2. ส่วนแบ่งรายได้คืนสู่ชุมชน ควรเป็นเท่าไหร่?
3. ราคาเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้า เท่าใดจึงจะเหมาะสม?
4. วิธีคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการใช้วิธีใดจึงจะเหมาะสมที่สุด?
5. ท่านคิดว่าโรงไฟฟ้าชุมชนจะสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ดีขึ้นได้อย่างไร?

ทั้งนี้เป้าหมายโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น เน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า นอกจากสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในประเทศแล้ว ยังเป็นการเพิ่มรายได้เข้าสู่ชุมชนตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการประกันรายได้ จากการปลูกพืชพลังงาน การเข้าไปถือหุ้นในประกอบการกิจการโรงไฟฟ้า รวมถึงผลประโยชน์ของชุมชนที่จะได้รับรายได้จากการขายไฟฟ้า

โดยเบื้องต้นหลายๆฝ่ายเห็นด้วยที่จะให้ชุมชนถือหุ้นในโรงไฟฟ้า 10-30 % เป็นหุ้นบุริมสิทธิ์ 10% และให้สิทธิมีหุ้นสามัญ 20% และทุกหน่วยของการขายไฟฟ้าจะนำผลประโยชน์คืนชุมชน 25 สตางค์

ทั้งนี้ระยะแรกมีเป้าหมายจะทำ 250 แห่งก่อนในปีหน้า แต่จะมีโครงการควิกวินประมาณ 20 โครงการ ที่กระทรวงพลังงานเคยสนับสนุนหลายปีก่อน และต้องหยุดไป ให้มาเข้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน แต่เข้าโครงการได้หรือไม่ จะต้องอยู่บนหลักการ คือ เปิดให้เอกชนมีหุ้นในโรงไฟฟ้า สายส่งมีศักยภาพรองรับได้ ผลิตไฟฟ้าใช้ในชุมชน นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด รวมถึงพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์  โดยพพ.จะเป็นหน่วยงานรวบรวมความเห็น และนำมาสรุปเป็นเงื่อนไขของโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป

S 1155309

“ผลจากการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จะนำข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็น ไปประกอบการพิจารณารูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางในการเปิดรับ ภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนกับชุมชน โดยกรอบดังกล่าว จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าในปี 2563 ” 

สำหรับโมเดลการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน มี 7 รูปแบบด้วยกัน สำหรับรูปแบบที่ 7 จะใช้เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นๆ ประกอบด้วย

  • โรงไฟฟ้าชุมชน ก๊าซชีวภาพ จากพืชพลังงาน
  • โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดก๊าซชีวภาพ จากพืชพลังงาน และพลังงานแสงอาทิตย์
  • โรงไฟฟ้าชุมชน ชีวมวล
  • โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดชีวมวล -พลังงานแสงอาทิตย์
  • โรงไฟฟ้าชุมชน ก๊าซชีวภาพ จากน้ำเสีย และของเสีย)
  • โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดก๊าซชีวภาพ (จากน้ำเสีย และของเสีย – พลังงานแสงอาทิตย์
  • โรงไฟฟ้าชุมชน พลังงานแสงอาทิตย์

ทั้งนี้ในห้องประชุม ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่า ธนาคารจัดสินเชื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาให้สินเชื่อ 20 ปี ดอกเบี้ย MRR

IMG 20191009 154201

ด้านนายผจญ ศรีบุญเรือง นายกสมาคมการค้าก๊าซชีวภาพไทย กล่าวว่า มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กประมาณ 50 โครงการ รวมประมาณ 100 เมกะวัตต์ ที่เกิดจากนโยบายการส่งเสริมผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน และต้องหยุดไป เพราะไม่มีการส่งเสริมต่อ นอกจากก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ ก็มีน้ำเสียจากโรงปาล์ม โรงงานผลิตแป้งมัน เป็นต้น  รวมถึงโรงไฟฟ้าแกลบ และจากการรวบรวมมี 20 โครงการที่พร้อมเข้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ทั้งในภาคใต้และอีสาน ขนาดกำลังผลิตโรงละ 1-3 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามต้องย้ำว่าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะต้องเป็นโครงการที่เดินหน้าได้เชิงธุรกิจ แต่อาจจะต่ำกว่าธุรกิจทั่วไป เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และชุมชนก็จะได้ผลตอบแทนจริงๆ

IMG 20191009 153052

ทางด้านนายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษ้ทของตนเองนำเสนอเข้าโครงการควิกวิน เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่เกิดจากโครงการส่งเสริมผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ และมูลสัตว์ ขนาดกำลังผลิต 2 เมกะวัตต์ 2 โรง รวม 4 เมกะวัตต์ ลงทุนรวม 500 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวดบุรีรัมย์

โดยเฟส 1 เริ่มทดสอบเดินเครื่องในเดือนพฤศจิกายนนี้ เฟส 2 ทดสอบเดินเครื่องในเดือนธันวาคม โดยหากได้รับการอนุมัติ จะแยกบริษัทออกมาโดยเฉพาะ เพื่อเปิดให้ชุมชนเข้ามามีหุ้นส่วน

ทั้งนี้เห็นว่ารัฐต้องเข้ามาสนับสนุนในเรื่องค่าไฟฟ้า เพราะต้นทุนผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 3.70 บาทต่อหน่วย ดังนั้นหากจะให้โรงไฟฟ้าอยู่ได้ มีผลตอบแทนคืนชุมชนด้วย ค่าไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบได้จะต้องอยู่ราว 4.50-5.50 บาทต่อหน่วย ปัจจุบันเราส่งเสริมชาวบ้านปลูกหญ้าเนเปียร์ส่งให้โรงไฟฟ้า 400 ไร่ และมีแปลงที่ปลูกเอง 1,200 ไร่

IMG 20191009 155122

นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าของบริษัทที่นำเสนอเข้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซชีวภาพ จากหญ้าเนเปียร์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ ลงทุนรวม 300 ล้านบาท โดยบริษัทส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์ 700-800 ไร่ รับซื้อที่ 500 บาทต่อตัน

“เราอยากให้ทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมส่งเสริมโครงการนี้ด้วย เพราะจะเป็นประโยชน์กับชุมชน โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้คำแนะนำเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ “

Avatar photo