Economics

‘สนธิรัตน์’ ยันยกเลิกแอลเอ็นจีกฟผ.1.5 ล้านตัน ย้ำไม่เสียหาย

“สนธิรัตน์” ยัน “ยกเลิกแอลเอ็นจีกฟผ.” 1.5 ล้านตัน พร้อมให้ศึกษารายละเอียดนำเข้าตลาดจร 90,000 ตัน 2 ลำ ย้ำไม่มีความเสียหายใดๆ   มติกพช. เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชน  รับเข้าระบบไม่เกินปี 65 พร้อมไฟเขียวดีเซล บี10 เป็นน้ำมันพื้นฐานต้นปี 63

55103

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ (11 ก.ย.) ว่า กระทรวงพลังงานยังไม่ได้นำเรื่องการยกเลิกการประมูลก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) 1.5 ล้านตัน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)มาให้กพช.พิจารณา

โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อในตลาดจร (Spot) ของกฟผ.90,000 ตัน จำนวน 2 ลำเรือตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันให้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้ก๊าซฯและปริมาณก๊าซฯของประเทศทั้งหมด และนำกลับมารายงานในกบง.อีกครั้ง

“ยืนยันตามมติกบง.ที่ให้ยกเลิกการประมูลแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันของกฟผ. และเรื่องนี้ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น เพราะยังไม่ได้ลงนามในสัญญาระหว่างกฟผ.กับปิโตรนาส ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูล ส่วนนโยบายเปิดเสรีกิจการก๊าซฯยังเดินหน้าต่อ  มีโจทย์สำคัญคือจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางแอลเอ็นจีได้อย่างไร และต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องถูกลง”

สำหรับมติของกพช.วันนี้ นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนทั่วประเทศ และมีระบบส่ง ระบบจำหน่ายไฟฟ้ารองรับไฟฟ้า

แนวทางการจัดตั้ง ให้ภาคไฟฟ้ารัฐ เอกชน ชุมชนร่วมกันจัดตั้ง หากพื้นที่ไม่มีศักยภาพจากพืชพลังงาน จะส่งเสริมการผลิตจากแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังผลิตที่สอดคล้องความต้องการใช้ในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ราคารับซื้อต้องกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด  มีการกำหนดผลประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า ส่วนแบ่งผลกำไรจากการดำเนินงาน หรือรายได้จากการขายเชื้อเพลิงจากวัสดุทางการเกษตร โดยอาจมีงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

ทั้งนี้ กพช. มอบให้ กบง. แก้ไขหลักเกณฑ์ กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเปิดรับข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชน มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน ปี 2565 และให้นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังเห็นชอบให้ขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล บี 10 ให้ต่ำกว่า บี 7 ที่ 2 บาทต่อลิตร  ลดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมัน บี 20 ให้ต่ำกว่าน้ำมัน บี7 ที่ 3 บาทต่อลิตร โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

พร้อมกันนี้ ยังเห็นชอบการบังคับใช้น้ำมันดีเซล บี 10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยให้น้ำมันบี 7 และ บี 20 เป็นทางเลือก โดยมอบให้กระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมัน เพื่อใช้บริโภค

ให้กระทรวงพลังงานบริหารจัดการการใช้ไบโอดีเซล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ติดตามปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล และประกาศคุณภาพไบโอดีเซลเป็นชนิดเดียวที่สามารถนำมาผลิตน้ำมันดีเซลได้ทุกเกรด ภายในวันที่ 1 มกราคม 2563

ทั้งนี้คาดว่าเดือนธันวาคม 2562 จะมีปริมาณการใช้ไบโอดีเซล บี 100 ที่ระดับ 6.2 ล้านลิตรต่อวัน ช่วยดูดซับการใช้ซีพีโอ 167,360 ตันต่อเดือน ซึ่งปริมาณซีพีโอคงเหลือในปัจจุบัน และผลผลิตตามที่คาดการณ์ไว้สามารถรองรับการผลิตบี 100 ได้เพียงพอ

โดยมีผู้ผลิตบี100 สำหรับใช้ผสมเพื่อผลิตเป็นบี 10 ได้ 9 ราย กำลังการผลิตรวมประมาณ 6.9 ล้านลิตรต่อวัน

ปัจจุบันมีจำนวนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลประมาณ 10 ล้านคัน เป็นรถยนต์ที่ค่ายรถยนต์รับรองว่าใช้บี 10 ได้ประมาณ 5.2 ล้านคัน หรือครึ่งหนึ่งของรถดีเซลทั้งหมด โดยผู้ค้าน้ำมันที่เป็นผู้ผลิต และจำหน่ายน้ำมันบี 10 มีความพร้อมและสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบกรอบนโยบายการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้การดำเนินงานเกี่ยวกับการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จาก สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) เป็น “สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

และมอบหมายให้สำนักงานกองทุนฯ เร่งจัดทำแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเสนอ กพช. ให้ความเห็นชอบ

รวมทั้งเร่งดำเนินการออกประกาศ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนฯ บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และเห็นชอบ (ร่าง) คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ../2562 เรื่อง กำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้นำเสนอนายกรัฐมนตรี ต่อไป

Avatar photo