Economics

‘ดาว’ จับมือ ‘เอสซีจี’ เล็งตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติกในอีอีซี

ดาว จับมือเอสซีจี แก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน พัฒนาโซลูชั่นรีไซเคิลพลาสติก หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน คาดได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ก่อนเริ่มทำโปรเจคนำร่องปีหน้า เน้นพื้นที่โซนอีอีซี

บริษัท ดาว ร่วมกับ เอสซีจี ลงนามข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาการรีไซเคิลพลาสติกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติก ป้องกันการหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สำหรับพลาสติกในประเทศไทย

99923

นายจิม ฟิทเทอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดาว กล่าวว่า ปัจจุบันโลกของเรามีขยะถูกทิ้งในทะเล 8 ล้านตันต่อปี เฉพาะประเทศไทย 1 ล้านตัน เราจึงต้องร่วมมือเพื่อนำขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกมาแปรรูปกลับมาเป็นเม็ดพลาสติกใช้ใหม่ ได้ราว 2-3 แสนตันต่อปี

โดยต้องผ่านการลงทุนในด้านเทคโนโลยีในการจัดเก็บ การบริหารจัดการขยะ การรีไซเคิล ตลอดจนการหาตลาดใหม่ ๆ ให้กับขยะพลาสติกเหล่านั้น ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา

231261

สำหรับแนวทางการศึกษาการนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์ มี 3 แนวทาง ประกอบด้วย เทคโนโลยีและกระบวนการด้านการรีไซเคิลเชิงกล (Mechanical Recycling) การรีไซเคิลพลาสติกกลับเป็นวัตถุดิบ (Feedstock Recycling) และการนำวัตถุดิบหมุนเวียนมาผลิตพลาสติก (Renewable Feedstock)

ความร่วมมือระหว่างดาวกับเอสซีครั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ เม็ดพลาสติกรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากขยะพลาสติก วัตถุดิบปิโตรเคมีจากขยะพลาสติก เม็ดพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น แต่เรายืนยันว่าไม่มีนโยบายที่จะนำเข้าขยะพลาสติกจากนอกประเทศมาเป็นวัตถุดิบแน่นอน  และจะเน้นดำเนินการนำร่องในโซนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

“ข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ดาว และ เอสซีจี ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ร่วมกันของทั้งสององค์กรในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนพลาสติก เพื่อลดปริมาณการรั่วไหลของพลาสติกไปสู่สิ่งแวดล้อม “

ปัจจุบัน ดาว ได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลกในการนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์และรีไซเคิลใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำงานร่วมกับเอสซีจีในครั้งนี้ จะช่วยให้เราทำให้โลกไม่มีขยะพลาสติกตกไปสู่สิ่งแวดล้อม

99924

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้งสองบริษัท แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะจัดการปัญหาพลาสติกใช้แล้วอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้  เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ รวมทั้งเป็นโซลูชั่นเพื่อการรีไซเคิล และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกในประเทศไทย

231262

โดยผลการศึกษาคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้ และจะเริ่มทำโครงการนำร่องในปี 2563 ผลิตเม็ดพลาสติกขนาดราว 20,000-30,000 ตันต่อปี เน้นการนำวัตถุดิบในพื้นที่มาใช้ประโยชน์มากกว่าการขนส่งจากพื้นที่อื่น ที่สำคัญเราต้องทำงานร่วมกับผู้รวบรวมขยะด้วย

“สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันในการนำขยะพลาสติกมารีไซเคิล คือการบังค้บใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การให้ความรู้สังคมเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และต้องทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาขยะร่วมกัน ลงมือคัดแยกขยะ มีภาคส่วนต่างๆมาทำงานด้วยกัน ทั้งภาคเอกชน รัฐ และภาคประชาสังคม ” 

231255

ด้านนายโจนาธาน เพนไรซ์ ประธานบริษัท ดาว ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นโอกาสทางธุรกิจ และเป็นอีกหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยดาวจะนำองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ และประสบการณ์ทางธุรกิจกว่า 50 ปีในประเทศไทย มาพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติกในประเทศต่อไป

ความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะตอบโจทย์ปัญหาสังคม ยังตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่จะเพิ่มอัตราการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ภายในปี พ.ศ. 2570

“การที่ขยะพลาสติกหลุดรอด สู่สิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบัน ที่ผ่านมา ดาว และ เอสซีจี จึงได้คิดค้นวิธีการ และนวัตกรรมในการช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีที่นำขยะพลาสติกมาเป็นส่วนผสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของถนนยางมะตอยและลานจอดรถจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับขยะพลาสติกที่มีมูลค่าต่ำ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดหลายชั้นและขยะพลาสติกที่ปนเปื้อน “

ทั้งนี้ที่ผ่านมาเราเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ที่นำทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตใช้แล้วก็ทิ้งไป แต่เศรษฐกิจหมุนเวียน หมายถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดด้วยกระบวนการใช้ซ้ำ หมุนเวียนกลับมาใช้ และการรีไซเคิลแปรรูปเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ซึ่งจะมีความยั่งยืนกว่าและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมปัจจุบัน

231260

ปัจจุบันดาว และ เอสซีจี เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายพันธมิตรเพื่อกำจัดขยะพลาสติก หรือ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ซึ่งมีความร่วมมือกับสถาบันการเงิน ภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อให้โลกปราศจากขยะพลาสติกในที่สุด

Avatar photo