Economics

ดาวจับมือ ‘พันธมิตรกำจัดขยะพลาสติก’ ผลักดันแก้ปัญหายั่งยืน

“ดาว”  จับมือเครือข่ายพันธมิตรกำจัดขยะพลาสติก (AEPW) เดินหน้าผลักดันแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนในไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเป้าลงทุนกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ใน 5 ปี เพื่อสนับสนุนโครงการที่มีศักยภาพในการพัฒนาแนวทางจัดการพลาสติกหลังการใช้งาน มุ่งผลสำเร็จลดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในมหาสมุทรอย่างยั่งยืน

Photo1 2

AEPW  จัดเวทีเสวนา “The Alliance to End Plastic Waste : A New Cross-Value Chain Synergy to remove Plastic Waste from the Environment” เพื่อเปิดตัวความร่วมมือดังกล่าวในไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีตัวแทนสมาชิก AEPW อาทิ ดาว, เอสซีจี, พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล, สุเอซ, ลียงเดลบาเซล และสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  (WBCSD) เข้าร่วมเวทีเสวนาด้วย

นายโจนาธาน เพนไรซ์ ประธานบริษัทดาว ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาว่า ความร่วมมือภายใต้พันธมิตร AEPW มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทุกองคาพยพตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม

เป้าหมายไม่ใช่เพื่อหาสาเหตุของปัญหา เพราะเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว แต่มุ่งไปที่แนวทางการจัดการปัญหา ซึ่งการที่เป็นความร่วมมือขนาดใหญ่ มีบริษัทระดับโลกกว่า 40 บริษัท ซึ่งต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ร่วมมือแก้ปัญหาในระดับภูมิภาค จึงเป็นข้อได้เปรียบ และนำไปสู่ความสำเร็จของโครงการได้

“ภารกิจครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการกล่าวถึงแผนการเท่านั้น แต่ถึงเวลาที่เราต้องนำแผนไปสู่การปฏิบัติจริง”

นายโจนาธานอธิบายเพิ่มเติมว่า หนึ่งในแนวทางการจัดการขยะพลาสติกที่ดาว ร่วมมือกับเอสซีจี พันธมิตรทางธุรกิจในประเทศไทย คือ การสร้างถนนพลาสติก โดยเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นส่วนประกอบในการทำถนนยางมะตอย ซึ่งถนนที่ได้จะมีอายุการใช้งานนานขึ้น และทนมากขึ้น เป็นตัวอย่างแนวทางการจัดการปัญหาหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ขยะพลาสติกสามารถนำมารีไซเคิล และเพิ่มมูลค่าได้

Photo2 2

ในประเทศไทย ดาวยังมีความร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิชาการ และองค์กรท้องถิ่น ภายใต้โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastic ที่มีเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  ให้ความรู้เรื่องการแยกขยะ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการรีไซเคิลขยะพลาสติกให้ได้ทั้งหมดภายในปี 2570

สำหรับ AEPW นั้น เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มบริษัทผู้ประกอบการชั้นนำของโลกตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม (cross-value chain) ที่ผลิต ใช้ ขาย แปรรูป จัดเก็บ และรีไซเคิล เพื่อวางแผนกลยุทธ์การจัดการขยะพลาสติก และดำเนินการอยู่บนรากฐานสำคัญ 4 ด้าน คือ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วม และการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

AEPW เห็นว่าปัญหาขยะพลาสติกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากพบว่าขยะพลาสติกราว 60% ในมหาสมุทร มีต้นกำเนิดมาจาก 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นความท้าทายที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกในภูมิภาคนี้

เวทีเสวนา ยังพบปัญหาหลายอย่าง ในการจัดการขยะพลาสติกในไทย และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  อาทิ การขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ระบบการคัดแยกขยะ การจัดการที่ขาดความรู้ เช่น ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลองซึ่งจะนำไปสู่การหลุดรอดออกสู่มหาสมุทร การขาดความเข้าใจและตระหนักรู้ในการจัดการพลาสติกหลังใช้แล้ว ทำมีการใช้เพียงครั้งเดียว ไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ และไม่นำพลาสติกกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะพลาสติกได้

Photo3 2

ทั้งนี้ AEPW จะเข้ามาดำเนินกระบวนการช่วยแก้ไขประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ อาทิ สนับสนุนการริเริ่มโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการจัดการขยะพลาสติก รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ และภาครัฐเพื่อหาแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนมอบเงินลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการที่มีแนวคิดและศักยภาพที่จะดำเนินโครงการที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับการจัดการขยะพลาสติก

Avatar photo