Economics

‘แท็กซี่กรุงเทพฯ’ เดินสายร้องนายกฯ-คมนาคม ขอส่งตัวแทนช่วยเขียนกฎหมายเปิดเสรี ‘แกร็บ’

“แท็กซี่กรุงเทพฯ” เดินสายยื่นหนังสือถึง “นายกฯ-คมนาคม” ขอความชัดเจนเรื่อง “แกร็บ” ถูกกฎหมาย พร้อมเปิด 6 มาตรการเยียวยาแท็กซี่ปัจจุบัน ขอติดป้ายโฆษณาบนรถเพิ่มรายได้ เตรียมส่งตัวแทนช่วยร่างกฎหมายด้วย

taxi เมล์ ตู้ ๑๘๑๒๐๗ 0039

นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายจะแก้ไขกฎหมายเพื่อให้บริการเรียกรถยนต์ส่วนบุคคล (รถป้ายดำ) ของแอปพลิชันแกร็บ หรือ Grab Car เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมายนั้น

ทางเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในกรุงเทพฯ  เห็นว่านโยบายดังกล่าว อาจส่งผลถึงรถแท็กซี่ในปัจจุบัน และยังไม่ทราบแนวทางการออกกฎหมายที่รองรับแกร็บว่า เป็นอย่างไร ทางกลุ่มฯ จึงมีความประสงค์จะขอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบ และวิธีการเยียวยาผลกระทบ จึงได้ทำเรื่องขอเข้าพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีโอกาสเข้าพบเพื่อติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้

ทางเครือข่ายฯ จึงขอนำคณะกรรมการและสมาชิกส่วนหนึ่งไปยื่นข้อเรียกร้องในเรื่องนี้ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยยื่นหนังสือผ่านทาง นายสิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่สภาผู้แทนราษฎร ในวันพรุ่งนี้ (21 ส.ค.) เวลา 13.00 น.  หลังจากนั้น คณะฯ จะไปติดตามเรื่องขอเข้าพบนายศักดิ์สยาม ที่กระทรวงคมนาคม เวลา 14.00 น.

“ทางเครือข่ายฯ ไม่ประสงค์ที่จะขัดแข้งกับนโยบายการพัฒนาระบบแท็กซี่ไทย โดยยกระดับการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ เพียงแต่ต้องการทราบรายละเอียดในวิธีปฏิบัติเพื่อปรับตัว และตอบสนองนโยบายกระทรวงคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” นายวิฑูรย์กล่าว

fig 03 04 2019 04 41 06

โวย! แข่งขันไม่เป็นธรรม

นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาของรถแท็กซี่รูปแบบเดิม คือต้องปฏิบัติตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ส่งผลให้มีต้นทุนสูงมาก ทั้งตัวรถและอุปกรณ์ที่ติดตั้งในรถ แต่รถแท็กซี่รูปแบบใหม่สามารถนำรถป้ายดำ มาทำเป็นรถแท็กซี่ได้เลย โดยใช้ร่วมกับโทรศัพท์มือถือ ทำให้ต้นทุนการประกอบการระหว่างแท็กซี่ 2 รูปแบบมีส่วนต่างกันมาก แต่คิดอัตราค่าโดยสารเท่ากัน จึงเกิดความไม่ยุติธรรม

ดังนั้น จึงขอให้กระทรวงคมนาคมเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และในอีกหลายประเทศที่แก้ไขปัญหาในเรื่องเดียวกันนี้ โดยวิธีการเพิ่มต้นทุนให้กับรถแท็กซี่รูปแบบใหม่ และลดต้นทุนรถแท็กซี่รูปแบบเดิมลง หรือเพิ่มรายได้ให้กับรถแท็กซี่รูปแบบเดิม เพื่อให้รถแท็กซี่รูปแบบบเดิมและรูปแบบใหม่สามารถอยู่ได้  โดยให้ผู้ใช้บริการเป็นผู้ตัดสินว่าจะเลือกใช้รถแท็กซี่รูปแบบไหน นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะได้ตัดสินใจเลือกลงทุนได้ด้วย

IMG 20181227131708000000

ขอส่งตัวแทนร่วมเขียนกฎหมาย

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการประกอบการรถแท็กซี่ทั้ง 2 รูปแบบ เพื่อเป็นการลดความขัดแย้งในเรื่องนี้ และสามารถรองรับกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอเสนอมาตรการเยียวยาดังต่อไปนี้

  1. รถที่จะนำมาจดทะเบียนเป็นรถแท็กซี่มิเตอร์ให้กำหนดขนาดรถไม่ต่ำกว่า 1200 cc หรือ 70 กิโลวัตต์ขึ้นไป
  2. กำหนดอัตราค่าโดยสารให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ในแต่ละช่วงเวลาและสภาพการจราจร
  3. ให้ขยายอายุรถแท็กซี่มิเตอร์ในการใช้งานจากเดิม 9 ปี เป็น 12 ปี
  4. สามารถโฆษณาบนรถได้ เพื่อเพิ่มช่องทางการหารายได้เสริม
  5. พัฒนาแอปพลิเคชัน Taxi OK  ให้มีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันการให้บริการเทียบเท่ากับภาคเอกชนที่ให้บริการอยู่ในขณะนี้
  6. ขอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลดีและผลเสียในเรื่องนี้ และให้ตัวแทนจากทางเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ฯ มีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาก่อนประกาศใช้กฎหมาย

Avatar photo