Economics

นายใหญ่ ‘BEM’ แจงขยายสัมปทานทางด่วนไม่ใช่ค่าโง่ แต่เป็น ‘ดีลแก้ปัญหา’ ที่ดีที่สุด

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แพ้คดีบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เนื่องจากรัฐบาลได้ก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ (ส่วนต่อขยาย) ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต แข่งขันกับทางพิเศษ (ทางด่วน) บางปะอิน-ปากเกร็ด ซึ่ง BEM ได้รับสัมปทาน ส่งผลให้รายได้ของทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ดลดลงระหว่างปี 2542-2543

คำพิพากษาดังกล่าวส่งผลให้การทางพิเศษฯ ต้องชดใช้ค่าหายแก่ BEM เป็นก้อนแรก วงเงินทั้งหมด 4,318 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 1,790 ล้านบาทและดอกเบี้ย 2,528 ล้านบาท พร้อมจุดประกายให้เกิดการแก้ปัญหา “ค่าโง่ทางด่วน” อย่างเป็นรูปธรรม เพราะนอกจากคดีนี้แล้ว BEM และการทางพิเศษฯ ยังมีข้อพิพาทที่กำลังต่อสู้กันในชั้นต่างๆ อีก 16 คดี

ทางด่วน 3

เมื่อ 2 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงมีมติให้การทางพิเศษฯ ไปเจรจายุติข้อพิพาทกับ BEM เพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐโดยเร็วที่สุด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 การทางพิเศษฯ และ BEM ได้บรรลุข้อตกลงยุติข้อพิพาท แต่สังคมก็ได้ตั้งคำถามกับผลการเจรจาดังกล่าวเป็นวงกว้าง

ในวันนี้ (14 ส.ค.) BEM จึงได้ออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าวอย่างละเอียดเป็นครั้งแรก โดย “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” นายใหญ่แห่ง BEM ออกมาให้ความมั่นใจว่า การขยายสัมปทานทางด่วนออกไป เป็นการยุติข้อพิพาทที่ดีที่สุด Win-Win ทั้งฝ่ายประชาชน รัฐ และBEM ที่เป็นเอกชน

“ปลิว ตรีวิศวเวทย์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ข้อพิพาทระหว่าง BEM และการทางพิเศษฯ เป็นเรื่องเกิดมานานมากกว่า 25 ปี เกิดจากการที่การทางพิเศษฯ ในอดีตทำผิดสัญญา ทำให้ BEM ได้รับความเดือดร้อน

ที่ผ่านมาได้พยายามเจรจากันมาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เมื่อเรื่องถึงชั้นอนุญาโตตุลาการ BEM ก็ชนะ แต่การทางพิเศษฯ ก็ไม่ยอมรับจนเรื่องไปถึงชั้นศาลปกครอง ดอกเบี้ยก็วิ่งไปทุกวัน อย่างไรก็ตามครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุด เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหา ซึ่งทางบริษัทก็พร้อมร่วมมือเต็มที่

plew1
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

BEM เชื่อว่าถ้าสู้คดีกันต่อ บริษัทก็มีโอกาสชนะสูงมาก แต่ถึงสุดท้าย BEM ชนะก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อประเทศชาติ รัฐก็เสียหาย ประชาชนเดือดร้อน แต่ถ้ายุติได้ รัฐไม่เสียหาย ประชาชนได้ประโยชน์ BEM ได้รับการเยียวยาพอสมควร ได้ทำธุรกิจต่อไป นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย

ผลการเจรจาครั้งนี้ถือว่า เป็นประโยชน์ต่อรัฐ และการทางพิเศษฯ เป็นอย่างมาก ถือว่าไม่มีความเสียหายใดเกิดขึ้น ประชาชนก็ได้ประโยชน์จากทางด่วนที่ดีขึ้น ค่าผ่านทางก็ไม่แพง บริษัทก็ได้รับการชดเชย และได้ดำเนินธุรกิจที่มีความถนัดต่อไป ทุกฝ่ายจึงเชื่อมั่นว่าการขยายสัมปทานยุติข้อพิพาทครั้งนี้เป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด”

 สู้ต่อค่าเสียหายพุ่งเป็น 3.2 แสนล้านบาท

“พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล” กรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ข้อพิพาทระหว่าง BEM กับการทางพิเศษฯ มีทั้งหมด 17 คดี โดยตัดสินในชั้นศาลปกครองสูงสุดไปแล้ว 1 คดี และ 12 คดีจากทั้งหมดเป็นข้อพิพาทที่เกิดจาก 2 เรื่อง คือ “ผลกระทบจากทางแข่งขัน” และ “เรื่องการไม่ปรับค่าผ่านทางตามสัญญา”

สำหรับข้อพิพาทเรื่องทางแข่งขันมีผลกระทบกับสัญญาทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ตั้งแต่ปี 2542 จนสิ้นสุดสัญญาในปี 2569 มูลค่าข้อพิพาทถึงสิ้นปี 2561 เท่ากับ 78,908 ล้านบาท ขณะที่ข้อพิพาทการไม่ปรับค่าผ่านทางตามสัญญา เรื่องนี้จะเกิดทุกๆ 5 ปี จนจบสัมปทานทั้ง 3 สัญญา มูลค่าข้อพิพาทถึงสิ้นปี 2561 เท่ากับ 56,034 ล้านบาท เมื่อรวมกับเรื่องอื่นๆ มูลค่าข้อพิพาทถึงสิ้นปี 2561 รวมเท่ากับ 137,517 ล้านบาท

แต่หากการทางพิเศษฯ ต่อสู้ทุกคดีจนถึงที่สุด ความเสียหายจะเพิ่มขึ้นไปอีกเพราะสัญญาสัมปทานยังไม่จบ มีเงินต้น-ดอกเบี้ย ประเมินว่าความเสียหายจะเพิ่มขึ้นจาก 137,517 ล้านบาทในปี 2561 เป็น 326,127 ล้านบาทในปี 2578 มาจากข้อพิพาทเรื่องการแข่งขัน 209,004 ล้านบาท ข้อพิพาทเรื่องไม่ปรับค่าผ่านทางตามสัญญา 11,704 ล้านบาท และข้อพิพาทอื่นๆ อีก 6,419 ล้านบาท

พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล

BEM ยอมลดมูลค่าข้อพิพาท

จากประเด็นดังกล่าว ครม. จึงมอบหมายให้การทางพิเศษฯ มาเจรจากับ BEM เพื่อหาทางยุติข้อพิพาทระหว่างกัน โดยการทางพิเศษฯ นำข้อพิพาทเรื่องผลกระทบทางแข่งขัน ซึ่งเป็นคดีที่มีบรรทัดฐานคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดแล้วมาเจรจาเท่านั้น

การเจรจาระหว่างการทางพิเศษฯ และ BEM ได้ข้อยุติว่า BEM จะปรับลดตอบแทนการลงทุน (IRR) ลง ส่งผลให้ “มูลค่าข้อพิพาทระหว่างกันลดลงจาก 137,517 ล้านบาท มายุติที่ 58,873 ล้านบาท” ซึ่งถือว่าน้อยมาก  เพราะต่ำกว่ามูลค่าข้อพิพาทเรื่องทางแข่งขัน ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 78,908 ล้านบาท และต่ำกว่าเงินต้นของมูลค่าข้อพิพาทเรื่องทางแข่งขันจนจบสัมปทานปี 2569 ประมาณ 100,000 ล้านบาท เท่ากับว่า BEM ไม่ได้คิดดอกเบี้ยเลยและถ้าให้ลดต่ำกว่า 58,873 ล้านบาท บริษัทก็ไม่ไหวแล้ว

“จุดนี้เป็นจุดที่การทางพิเศษฯ เขายอมรับได้ เพราะเจรจาจบ ให้ขยายสัมปทานออกไป 30 ปี ตัวเลขมูลค่าข้อพิพาทที่ 5.8 หมื่นล้านบาท เรายอมปรับ IRR เราลง เขาก็ยอมรับได้เพราะถือว่าเขาชดเชยให้เราน้อยกว่าที่เขาชดเชยในสัญญา ดอกเบี้ยก็ไม่มีเลย ถ้ามองในมุมรัฐก็เหมือนการทางพิเศษฯ ยืมเงินเราไป 100 บาท  ถึงเวลาจ่ายแค่ 50 บาท ดอกเบี้ยก็ไม่คิด เพราะฉะนั้นก็เหมือนไม่มีความเสียหายอะไรเกิดขึ้น”

ทางด่วน 1

แบ่งข้อตกลงเป็น 2 สัญญา

“พงษ์สฤษดิ์” กล่าวว่า ตามผลการเจรจายุติข้อพิพาทมูลค่า 58,873 ล้านบาท จะมีทำสัญญาระหว่าง BEM และการทางพิเศษฯ ใน 2 ส่วน

สัญญาส่วนที่ 1 การทางพิเศษฯ จะขยายสัมปทานทางด่วนให้ BEM จำนวน 3 สัญญา โดยให้ทั้ง 3 สัญญาสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ตุลาคม 2578 ถ้าหากลงนามสัญญาส่วนนี้จะเท่ากับเป็นการยุติข้อพิพาทมูลค่า 58,873 ล้านบาท และจะไม่มีการนำข้อพิพาททั้ง 17 ข้อขึ้นมาฟ้องร้องกันอีกในอนาคต ได้แก่

  • ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A, B และ C รวมทางด่วนขั้นที่ 1 ปัจจุบันที่สิ้นสุดสัญญาวันที่ 1 มีนาคม 2563 ก็จะขยายสัญญาออกไป 15 ปี 6 เดือน
  • ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D จากปัจจุบันสิ้นสุดสัญญาวันที่ 22 เมษายน 2570 ก็จะขยายสัญญาออกไปอีก 8 ปี 6 เดือน
  • ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด C+ ปัจจุบันสิ้นสุดสัญญาวันที่ 27 กันยายน 2569 ก็จะขยายสัญญาออกไปอีกประมาณ 9 ปี

Capture 19

สัญญาส่วนที่ 2 BEM จะได้รับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนทั้ง 3 ฉบับออกไปถึง 30 ปี ถ้าหากทำตามเงื่อนไขการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร

เงื่อนไขคือ การทางพิเศษฯ จะต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงประชาชื่น-อโศก (บึงมักกะสัน) ระยะทาง 17 กิโลเมตร ภายใน 2 ปี จากนั้น BEM จะต้องก่อสร้าง Double Deck รวมถึงทางข้าม (Bypass) เพื่อแก้จุดตัดจราจรบริเวณอโศก 2 จุด ขยายพื้นผิวจราจรบริเวณมักกะสันและพระราม 6 อีก 2 จุด รวมมูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท

ถ้าหากไม่มีปัญหาใดๆ ก็คาดว่ารายงาน EIA ของ Double Deck จะแล้วเสร็จในปี 2565 โดย BEM จะใช้เวลาก่อสร้างอีกประมาณ 4-5 ปี หรือเปิดให้บริการ Double Deck ได้ในปี 2569-2570 ขณะเดียวกัน BEM ก็จะได้รับการขยายสัมปทานทางด่วน 3 ฉบับตามสัญญาดังนี้

  • ทางด่วนขั้นที่ 2 ช่วง A, B, C รวมทางด่วนขั้นที่ 1 จากเดิมสิ้นสุด วันที่ 31 ตุลาคม 2578 ขยายถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2593
  • ทางด่วนขั้นที่ 2 ช่วง D จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2578 ขยายถึงวันที่ 21 เมษายน 2600
  • ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ช่วง C+ จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2578 ขยายถึงวันที่ 26 กันยายน 2599

“สัญญาส่วนที่ 2 จะลงนามได้หลังจากรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับความเห็นชอบ หากไม่ผ่านภายใน 2 ปี นับจากลงนามส่วนที่ 1 การทางพิเศษฯ ก็มีสิทธิ์ยกเลิก ไม่ลงนามสัญญาส่วนที่ 2 โดย BEM ไม่มีสิทธิเรียกร้อง นอกจากนี้การทางพิเศษฯ จะเปลี่ยนวิธีการปรับขึ้นค่าผ่านทาง จากปกติอิงตามเงินเฟ้อ ก็ขอเปลี่ยนมาขึ้นแบบคงที่ทุกๆ 10 ปี ส่งผลให้ค่าผ่านทางปรับขึ้นในอัตราที่ลดลง” พงษ์สฤษดิ์กล่าว

ทางด่วน2

ยืนยันเป็นดีลแก้ปัญหา ไม่ใช่ค่าโง่

สำหรับกรณีที่มีผู้เรียกการขยายสัมปทานทางด่วนว่า “ค่าโง่” นั้น “พงษ์สฤษดิ์” ชี้แจงว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นไม่ใช่ค่าโง่ เพราะไม่ได้เกิดจากการทำสัญญาที่ผิดพลาดหรือมีการทุจริตแต่อย่างใด สัญญาสัมปทานก็เป็นสัญญาที่เป็นธรรมระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งเรื่องทางแข่งขันและการปรับค่าผ่านทางเป็นเรื่องสัญญาที่ตกลงกันไว้ รัฐอาจมีความจำเป็นและเหตุผลในการสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายไปรองรับเมืองที่จะขยายออกไป หรือเกรงว่าการขึ้นค่าผ่านทางจะกระทบประชาชน

แต่เมื่อเกิดผลกระทบกับบริษัทแล้ว การทางพิเศษฯ ไม่ได้ชดเชยตามสัญญา ก็เกิดการผิดสัญญาขึ้นนำไปสู่การพิพาทในท้ายที่สุด กรณีเช่นนี้น่าจะถือเป็นค่าเบี้ยวมากกว่าค่าโง่ เพราะไม่มีใครโง่หรือฉลาดในเรื่องนี้

ขณะเดียวกันยืนยันว่า “ดีลนี้เป็นดีลแก้ปัญหาจริงๆ” เพราะ BEM ก็เป็นบริษัทคนไทยและให้บริการประชาชน จึงไม่ต้องการมีข้อพิพาทกับหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อมีข้อพิพาทแล้ว ก็ขอให้รัฐบาลให้ความเป็นธรรมระหว่างเอกชนและหน่วยงานของรัฐด้วย เพื่อให้ BEM ได้รับการเยียวยาในระดับเหมาะสม สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย แต่ถ้าการทางพิเศษฯ จะสู้ต่อ BEM ซึ่งเป็นคนทำธุรกิจก็ต้องสู้เช่นกัน

ทางด่วน

ยัน “คมนาคม” ยังไม่ได้รื้อดีล

สำหรับกรณีที่กระทรวงคมนาคมตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาข้อพิพาทสัมปทานนั้น “พงษ์สฤษดิ์” กล่าวว่า BEM และการทางพิเศษฯ เจรจาจนได้ข้อยุติ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแล (มาตรา 43) ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 ของกระทรวงคมนาคม สำนักงานอัยการสูงสุด และเตรียมเข้าที่ประชุม ครม. แล้ว

แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ กระทรวงคมนาคมก็ขอนำเรื่องขึ้นพิจารณาอีกครั้ง เพื่อหาทางที่ดีที่สุดหรือดูความเป็นไปได้ แต่ไม่ได้บอกว่าจะรื้อ โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะเต็มที่กับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพราะดอกเบี้ยยังวิ่งไปเรื่อยๆ แต่ถ้าหากกระทรวงคมนาคมรื้อหรือมีวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีกว่านี้ ก็จะนำมาคุยกันได้

“บริษัทเชื่อว่า กทพ.และกระทรวงคมนาคมคงจะเร่งสรุปเรื่องนี้ เสนอ ครม.เพราะเป็นประโยชน์สูงสุด และผ่านความเห็นชอบของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนแล้ว”

Avatar photo