Economics

คมนาคมห่วงความปลอดภัย ‘รถไฟฟ้าสีน้ำเงิน’ ช่วงลอดใต้แม่น้ำ

“ศักดิ์สยาม” ห่วงความปลอดภัย “รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน” 750 เมตร ช่วงลอดใต้แม่น้ำพระยา ด้าน รฟม. ยันได้มาตรฐานแน่ ยกเคสยกแผ่นดินไหวนครโอซาก้า กลับมาเปิดใช้ได้ระบบแรก

246164

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ไปจัดทำแผนความปลอดภัยในการเดินทางและแผนการเผชิญเหตุ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และสามารถรายงานต่อผู้บังคับบัญชาได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ จากการเดินทางไปทำพิธีเปิดทดลองเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT (ส่วนต่อขยาย) ช่วงสถานีวัดมังกร-ท่าพระ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา เพราะตนมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะการเดินรถภายในอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาระหว่าง 2 สถานี คือ สถานีสนามไชย และสถานีอิสรภาพ

“รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 1 ขบวน มี 3 ตู้ รองรับได้ 1,000 คน และเพิ่มได้สูงสุด 6 ตู้ รองรับได้ถึง 2,000 คน  ซึ่งตนกังวลเรื่องความปลอดภัย ถ้าเกิดเหตุที่คิดไม่ถึงจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้โดยสาร เราไม่ค่อยมั่นใจ เพราะทางหนีมีน้อย และไกล ทางยาวถึง 750 เมตร มีปล่องที่มีบันไดหนีภัย 1 จุดและต้องไต่ 30 เมตรขึ้นมา แล้วก็ไม่รู้ว่าเข้าได้ทีละกี่คน สิ่งเหล่านี้ต้องมีการฝึกซ้อมก่อนเปิดให้บริการจริง ต้องมั่นใจว่าเกิดเหตุแล้วไม่มีผู้ได้รับอันตราย” นายศักดิ์สยามกล่าว

246218

นายศักดิ์สยามยังกำชับให้ทุกหน่วยงานกวดขัดเรื่องกล้องวงจรปิด (CCTV) ให้สามารถใช้งานได้จริงตลอดเวลา รวมทั้งเพิ่มระยะเวลาในการบันทึกเป็นอย่างต่ำ 3-6 เดือน ไม่ใช่บันทึกได้แค่ 7 วัน เพื่อใช้ CCTV ในการป้องกันปัญหา

ทางด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ถ้านายศักดิ์สยามมีความห่วงใย ตนก็พร้อมจะรับข้อสังเกตเรื่องดังกล่าว มาปรับมาตรการความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้นไปอีก รวมถึงชี้แจงประเด็นข้อห่วงใยต่างๆ ต่อนายศักดิ์สยามเพิ่มเติม

ทั้งนี้ รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินตามปกติจะมีความลึกจากผิวดินประมาณ 20-25 เมตร แต่ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีสนามไชย-สถานีอิสรภาพ ที่ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาจะมีความลึกมากกว่าปกติอีก 10 เมตร

S 83410946

อย่างไรก็ตาม ตนไม่รู้สึกกังวล เพราะรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายมีมาตรฐานความปลอดภัยรองรับอยู่แล้ว โดยเป็นมาตรการเดียวกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ที่เปิดให้บริการอยู่เดิม ถ้าหากเกิดเหตุฉุกเฉินก็จะมีผู้นำการอพยพ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็มีการซักซ้อมตามมาตรฐานการอพยพอยู่แล้ว

นายภคพงศ์ยังยกตัวอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่นครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานบนดินและต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ แต่ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ก็กลับมาเปิดให้บริการตามปกติได้เป็นระบบแรก เพราะระบบใต้ดินเคลื่อนที่ไปพร้อมกันแนวแผ่นดินไหว จึงขอยืนยันว่าระบบรถไฟฟ้าใต้ดินปลอดภัยและได้มาตรฐาน

Avatar photo